มะเร็งปอด (Lung cancer)
ความรู้ทั่วไป
มะเร็งปอดเป็นมะเร็งที่พบได้เป็นอันดับที่สองทั้งในผู้ป่วยเพศชายและหญิง และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตสูงสุดในผู้ป่วยมะเร็งโดยรวมทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก โดยมะเร็งปอดแบ่งได้หลักๆ เป็นชนิด non-small cell lung cancer (NSCLC) และชนิด small cell lung cancer (SCLC) การฉายรังสีเป็นการรักษาหลักชนิดหนึ่ง โดยสามารถเพิ่มอัตราการรอดชีวิตในผู้ป่วยระยะที่ 1-3 และยืดระยะเวลาการรอดชีวิตและบรรเทาอาการในผู้ป่วยระยะที่ 4
โรคมะเร็งปอดชนิด NSCLC พบประมาณ 80% ของมะเร็งปอดทั้งหมด โดยสามารถแบ่งเป็นชนิดย่อยได้แก่ adenocarcinomaซึ่งพบมากสุด รองลงมาคือ squamous cell carcinoma และ large cell tumor สำหรับมะเร็งปอดชนิด SCLCพบประมาณ 20 % ของมะเร็งปอดทั้งหมด โดยส่วนมากผู้ป่วยประมาณ 70-80% มักพบการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นแล้ว
หลักการรักษามะเร็งปอดชนิด NSCLC
-
ระยะที่ 1-3 ที่ยังไม่พบการกระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง mediastinum ฝั่งตรงข้ามหรือต่อมน้ำเหลืองเหนือไหปลาร้า
- การรักษาหลักเป็นการผ่าตัดและตามด้วยยาเคมีบำบัดในบางกรณี หากภายหลังการผ่าตัดพบว่ามีการกระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง mediastinum หรือผ่าตัดมะเร็งออกได้ไม่หมด แนะนำการฉายรังสีภายหลังการผ่าตัดร่วมด้วย โดยฉายรังสี 27-30 ครั้ง วันละครั้งต่อเนื่องทุกวัน สามารถทำได้ทั้งแบบสามมิติทั่วไป และสามมิติชนิดปรับความเข้มรังสี มักจำลองการฉายรังสีเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT simulation) ชนิด 4 มิติ (4D-CT simulation)
- มะเร็งปอดระยะที่ 3บางรายอาจได้รับยาเคมีบำบัดหรือการฉายรังสีร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัดก่อนการผ่าตัดเพื่อก้อนมีขนาดเล็กลง โดยฉายรังสี 25-30 ครั้ง วันละครั้งต่อเนื่องทุกวัน สามารถทำได้ทั้งแบบสามมิติทั่วไปและชนิดปรับความเข้มรังสี มักจำลองการฉายรังสี 4D-CT simulation
- ผู้ป่วยระยะที่ 1-2 ที่ไม่มีการกระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองแต่มีปัญหาสุขภาพทำให้ไม่สามารถผ่าตัดได้ การรักษาหลักคือการฉายรังสีร่วมพิกัดทดแทนการผ่าตัด (stereotactic body radiotherapy, SBRT หรือ stereotactic ablative radiotherapy, SABR) ฉายทั้งหมด 1-10 ครั้ง วันละครั้ง ต่อเนื่องทุกวันหรือวันเว้นวัน โดยปริมาณรังสีต่อครั้งมากกว่าการฉายรังสีมาตรฐาน มักจำลองการฉายรังสี 4D-CT simulationหรือใช้เทคนิคหายใจเข้าเต็มที่และกลั้นใจ (deep inspiration breath hold, DIBH) และมีการตรวจสอบตำแหน่งก่อนฉายรังสีจริงทุกครั้ง
-
ระยะที่ 3 ที่มีการกระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง mediastinumฝั่งตรงข้ามหรือต่อมน้ำเหลืองเหนือไหปลาร้า
- การรักษาหลักคือการฉายรังสีร่วมกับยาเคมีบำบัด ฉายรังสี 30-35ครั้ง ฉายวันละครั้งต่อเนื่องทุกวัน สามารถทำได้ทั้งแบบสามมิติทั่วไปและสามมิติชนิดปรับความเข้มรังสี มักจำลองการฉายรังสี 4D-CT simulation
-
ระยะที่ 4
- การรักษาหลักคือ systemic treatment ได้แก่ ยาเคมีบำบัด, ยามุ่งเป้า หรือ immunotherapy และมีการฉายรังสีเพื่อลดอาการของโรคจากมะเร็งบริเวณทรวงอกและตำแหน่งที่มีการแพร่กระจาย โดยทั่วไปฉายรังสีจำนวน 1-15 ครั้ง วันละครั้งต่อเนื่องทุกวัน
หลักการรักษามะเร็งปอดชนิด SCLC
-
ระยะที่ 1-3
- การรักษาหลักคือการฉายรังสีร่วมกับยาเคมีบำบัด ฉายรังสีจำนวน 30 ครั้ง วันละ 2 ครั้งหรือฉายวันละครั้งต่อเนื่องทุกวัน สามารถทำได้ทั้งแบบสามมิติทั่วไปและสามมิติชนิดปรับความเข้มรังสี มักจำลองการฉายรังสี 4D-CT simulation
- การฉายรังสีบริเวณสมองเพื่อป้องกันไม่ให้มีการกระจายมะเร็งไปสมอง ฉายรังสี 10 ครั้ง วันละครั้งต่อเนื่องทุกวัน มักฉายแบบสามมิติทั่วไป
-
ระยะที่ 4
- การรักษาหลักคือ systemic treatment ได้แก่ ยาเคมีบำบัด หรือ immunotherapy
- ในผู้ป่วยที่มีการตอบสนองต่อยาเคมีบำบัดดี อาจพิจารณาฉายรังสีป้องกันมะเร็งกระจายไปบริเวณสมอง และฉายรังสีที่ก้อนที่หลงเหลือบริเวณทรวงอก โดยฉาย 10 ครั้ง วันละครั้งต่อเนื่องทุกวัน มักฉายแบบสามมิติทั่วไป และมีการฉายรังสีเพื่อลดอาการของโรคจากมะเร็งโดยทั่วไปฉายรังสี 1-10ครั้งต่อเนื่องทุกวัน
ผลข้างเคียงจากการฉายรังสีบริเวณปอด
ผลข้างเคียงระยะสั้นที่อาจพบได้แก่ อาการอ่อนเพลีย กลืนติดเนื่องจากหลอดอาหารอักเสบ ปอดอักเสบจากการฉายรังสี เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบจากการฉายรังสี เม็ดโลหิตต่ำโดยเฉพาะผู้ป่วยที่รับยาเคมีบำบัดร่วมด้วย
ผลข้างเคียงระยะยาวที่อาจพบได้แก่ พังผืดในปอด ปวดบริเวณผนังทรวงอก กระดูกซี่โครงร้าว โรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น
การตรวจติดตาม
- ระหว่างรับการฉายรังสี นิยมตรวจร่างกายและซักประวัติทุกสัปดาห์ร่วมกับการเจาะความสมบูรณ์เม็ดเลือด
- ภายหลังการฉายรังสีครบ นิยมตรวจร่างกายและซักประวัติอาการผู้ป่วยที่ 1 เดือน ภายหลังการฉายรังสี และทุกๆ 3-6 เดือนจนครบ 5 ปี และหลังจากนั้นตรวจทุกๆปี โดยมักทำ CT scanบริเวณทรวงอก หรือเอกซเรย์ปอด ร่วมด้วย
- อาจมีการตรวจเอ็มอาร์สมอง,แสกนกระดูก,CTscanบริเวณช่องท้อง หรือ PET/CT scan เพิ่มเติม เพื่อประเมินว่ามีการแพร่กระจายหรือกลับมาของโรคหรือไม่