การบริการ

เครื่องจำลองการฉายรังสีด้วยภาพสะท้อนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า

การวางแผนการฉายรังสีอย่างแม่นยำยิ่งขึ้นด้วย
เครื่องจำลองการฉายรังสีด้วยภาพสะท้อนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI simulation)


ภาพข่าวการเปิดตัวเครื่อง MRI Simulator

 

เป็นที่ทราบกันดีว่า การตรวจวินิจฉัยด้วยภาพสะท้อนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้านั้น เป็นการตรวจวินิจฉัยหลักของ รอยโรคในสมองไขสันหลัง และเนื้อเยื่ออื่นๆ เพราะมีข้อดีเหนือกว่าการตรวจด้วยเครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์คือ แพทย์สามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างเนื้อเยื่อชนิดต่างๆ ได้ดีทำให้สามารถมองเห็นความผิดปกติในร่างกายได้ชัดเจนและละเอียดยิ่งขึ้นในการวางแผนฉายรังสีทั้งแบบ 3 มิติและแบบปรับความเข้ม แพทย์จะทำการวางแผนโดยอิงจากรูปเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์เป็นหลัก ซึ่งถึงแม้จะทำได้ดีแต่ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่บางส่วนการจำลองการฉายรังสีด้วยภาพสะท้อนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าร่วมกันกับการจำลองการฉายด้วยเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์จะช่วยให้การฉายรังสีนั้นมีความละเอียดแม่นยำยิ่งขึ้น และทำให้แพทย์สามารถเห็นขอบเขตของก้อนได้ชัดเจนมากขึ้น

การวางแผนด้วยเครื่องจำลองการฉายรังสีด้วยภาพสะท้อนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ามีความแตกต่างจากการตรวจด้วยภาพสะท้อนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าทั่วไป คือ เป็นการตรวจเพื่อจำลองการฉายรังสี. มีการจัดท่าผู้ป่วยด้วยอุปกรณ์พิเศษป้องกันการขยับเขยื้อน ซึ่งเป็นอุปกรณ์และการจัดตำแหน่งที่เหมือนกับขณะฉายรังสี นอกจากนั้นผู้ป่วยจะตรวจโดยนอนบนเตียงที่เป็นเตียงลักษณะเดียวกันกับห้องฉายรังสีอีกด้วย

 การสร้างภาพด้วยคลื่นสะท้อนในสนามแม่เหล็ก คุณลักษณะเด่นของเครื่องนี้คือ สามารถแยกความแตกต่างระหว่างเนื้อเยื่อออกจากกันได้อย่างชัดเจน โดยทางโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการกำหนดรอยโรคที่ชัดเจน เพื่อการวางแผน และการรักษาผู้ป่วยให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น จึงเป็นสถาบันแรกในเอเชียที่ได้นำเอาภาพ 3 มิติ จากการสร้างภาพด้วยคลื่นสะท้อนด้วยในสนามแม่เหล็ก มาใช้ในการจำลองการรักษาร่วมกับภาพ 3 มิติ ที่ได้จากเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เพื่อประกอบในการกำหนดขอบเขตของรอยโรคและการวางแผนการรักษา สำหรับการรักษาด้วยรังสีระยะไกล และรังสีระยะใกล้อย่างเต็มรูปแบบ

 

ขั้นตอนในการจำลองการฉายรังสีด้วยภาพสะท้อนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า

1. จัดท่าผู้ป่วยโดยใช้อุปกรณ์พิเศษป้องกันขยับเขยื้อน ให้อยู่ในตำแหน่งและท่าทางที่เหมาะสมกับการฉายรังสี

2. จำลองการฉายรังสีด้วยเครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์

3. เคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปยังเครื่องจำลองการฉายรังสีด้วยภาพสะท้อนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ทำการจำลองการฉาย

4. แพทย์จะนำข้อมูลจากการจำลองการฉายรังสีทั้ง 2 มาประกอบกันเพื่อใช้ในการวางแผนโดยใช้เทคนิคต่างๆต่อไป

ความรู้โดยละเอียดของเครื่องจำลองการฉายรังสีด้วยภาพสะท้อนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า คลิ๊ก

 

ขั้นตอนทั้งหมดเหล่านี้จะใช้เวลาโดยรวมประมาณ 1-2 ชั่วโมงเท่านั้น

 

 


 

 

สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา ฝ่ายรังสีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นแห่งแรกในเอเชียที่มีการใช้เทคโนโลยีในการจำลองการฉายรังสีด้วยภาพสะท้อนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้านี้

จำนวนคนเข้าใช้งาน

6 5 5 0 2 9 1

ข้อมูลในเว็บ chulacancer.net นี้เป็นข้อมูลเชิงวิชาการ การนำไปใช้รักษาผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย สาขารังสีรักษา
และมะเร็งวิทยาคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะไม่รับผิดชอบต่อผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติตามข้อมูลนี้ กรุณาปรึกษาแพทย์