สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เริ่มเปิดให้บริการการรักษาโรคมะเร็งตั้งแต่ปี 2494 จนถึงปัจจุบัน มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายสาขา และอุปกรณ์ให้การรักษาด้านรังสีรักษาอันทันสมัยที่สุดในประเทศไทย ด้วยงบประมาณมากกว่า 1,000 ล้านบาท นับว่าเราเป็นผู้นำในการรักษาโรคมะเร็งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถผลิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา นักฟิสิกส์การแพทย์ นักรังสีเทคนิค ตลอดจนเป็นสถานที่อบรมศึกษาดูงานของบุคลากรทางรังสีรักษาและโรคมะเร็ง ทั้งจากสถาบันอื่นๆ ในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่องและเป็นจำนวนมาก ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ปากีสถาน เนปาล จีน ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย บังคลาเทศ พม่า เวียดนาม และเกาหลีเหนือ โดยได้รับความร่วมมือจากทบวงการปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency : IAEA)

ด้านการบริการ

 
 

สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มีความมุ่งมั่นในการรักษามะเร็งด้วยวิธีการมาตรฐาน มีหลักฐานและข้อมูลทางการแพทย์ที่น่าเชื่อถือและอ้างอิงได้ เราให้การบริการด้วยความจริงใจ และตั้งมั่นที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยและญาติให้มากที่สุด โดยมีการประสานงานการรักษากับทีมแพทย์เฉพาะทางสหสาขา 

 

ปัจจุบันมีเครื่องมือทางรังสีรักษามากที่สุดในประเทศไทย ได้แก่
 
 
21EX 23EX
RapidArc iX
 
 
เครื่องฉายรังสี Linear Accelerator 4 เครื่อง ซึ่งสามารถทำการรักษาฉายรังสีแบบ 3 มิติ แบบปรับความเข้ม 1,000 องศา พร้อมกับการปรับความเร็วของการหมุนและการเคลื่อนที่ของซี่ตะกั่วกำบังรังสี (Volumetric Modulated Arc Therapy) ซึ่งสามารถฉายรังสีแบบปรับความเข้มหมุนรอบตัวผู้ป่วยที่ฉายรังสีได้ในเวลาอันสั้น พร้อมระบบภาพนำวิถีแบบ 2 และ 3 มิติ เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของลำรังสี (Image-guided radiotherapy: IGRT)
 
เครื่องฉายรังสีความเข้มสูง (TrueBeam) เป็นเครื่องที่ใช้วิธีการฉายลำรังสีโดยไม่ต้องผ่านที่กรองร้งสีให้เรียบ เรียกว่า unflat beam ทำให้ได้อัตราปริมาณรังสีสูงถึง 2,400 cGy/MU สามารถทำการฉายรังสีแบบปรับความเข้มด้วยเวลาอันรวมเร็วจึงเหมาะกับการรักษาที่ให้ปริมาณรังสีสูงใช้จำนวนครั้งการรักษาลดลง
 
 
เครื่องฉายรังสีแบบศัลยกรรมความเข้มสูง (TrueBeam) สามารถทำการรักษาฉายรังสีศัลยกรรมบริเวณศีรษะได้อย่างแม่นยำ พร้อมระบบภาพนำวิถีแบบ 3 มิติ เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของรังสี (Image-guided radiotherapy: IGRT) และมีระบบตรวจสอบตำแหน่งผู้ป่วยตลอดเวลา โดยใช้แสงอินฟราเรด เรียกว่า Align RT
 
เครื่องจำลองการฉายรังสีด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ 2 เครื่อง ซึ่งสามารถให้การจำลองการฉายรังสีทั้งแบบ 3 และ 4 มิติ (CT simulation)
 
 

เครื่องจำลองการฉายรังสีด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า 2 เครื่อง ( MRI simulation ) ซึ่งสามารถเห็นภาพของเนื้อเยื่อคมชัดกว่าภาพจากเครื่องจำลองด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะรอยโรคในสมองและช่องเชิงกราน โดยสาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา ฝ่ายรังสีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นแห่งแรกในเอเชียที่มีการใช้เทคโนโลยีการจำลองการฉายรังสีด้วยภาพสะท้อนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้านี้


 
เครื่องใส่แร่แบบ 3 มิติ พร้อมอุปกรณ์ใส่แร่แบบ 3 มิติ โดยสาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา ถือเป็นสถานทีแห่งแรกในเอเชีย ที่ให้บริการการใส่แร่แบบ 3 มิติ โดยใช้เครื่องจำลองการฉายรังสีด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการรักษาให้มากที่สุด
 
เครื่องฉายรังสีเต้านมในห้องผ่าตัดแบบสัมผัส เพื่อทำลายเซลล์เพียงครั้งเดียวหลังการผ่าตัดเอาก้อนออก เพื่อช่วยลดระยะเวลาการฉายรังสีระยะไกลสำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมได้ ถือว่าโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มีเครื่องฉายรังสีเป็นเครื่องแรกของประเทศไทยและเปิดใช้งานตั้งแต่ปี
พ.ศ. 2554
 
 
เครื่องมือด้านรังสีวินิจฉัยที่มีมากที่สุดในประเทศไทย อาทิ
 
 

1. เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computed tomography: CT scanner) จำนวน 4 เครื่อง

2. เครื่องวินิจฉัยด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic resonance imaging: MRI scanner) จำนวน 4 เครื่อง

3. เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สำหรับรังสีร่วมรักษา  จำนวน 1 เครื่อง

4. เครื่องวินิจฉัยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสำหรับรังสีร่วมรักษา  จำนวน 1 เครื่อง

5. เครื่องวินิจฉัยด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสำหรับมะเร็งเต้านม (Breast MRI scanner)  จำนวน 1 เครื่อง

6. เครื่องตรวจภาพรังสีเต้านม (Digital Mamography) จำนวน 4 เครื่อง และมีระบบการเจาะชิ้นเนื้อด้วยแมมโมโทม (Mammotome)  จำนวน 1 เครื่อง

7. เครื่องเอกซเรย์ระบบดิจิตัล (Digital radiography)  จำนวน 24 เครื่อง

8. เครื่องเอกซเรย์ระบบดิจิตัลฟลูออโรสโคป (Digital fluoroscopy) จำนวน 5 เครื่อง

9. เครื่องเอกซเรย์ดิจิตัลสำหรับเส้นเลือด DSA & IR (Digital subtraction angiography and Intervention radiology) จำนวน 4 เครื่อง

10. เครื่องวินิจฉัยโรคทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์แบบ 3 มิติด้านระบบ SPECT จำนวน 3 เครื่อง

11. เครื่องวินิจฉัยโรคทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์แบบ 3 มิติด้วยระบบ SPECT/CT จำนวน 2 เครื่อง

12. เครื่องเพ็ทซีที (PET/CT scanner) จำนวน 1 เครื่อง

13. เครื่องตรวจความหนาแน่นของกระดูก (Bone density scanner) จำนวน 2 เครื่อง

14. เครื่องตรวจความสามารถในการจับไอโอดีนของต่อมไทรอยด์ (Thyroid uptake and scan) จำนวน 1 เครื่อง

   
 

      การรักษาด้วยวิธีทันสมัยอื่นๆ อีก อาทิ

 
♦     

การรักษามะเร็งไทรอยด์ด้วยสารกัมมันตภาพรังสีไอโอดีน131 (Radioactive iodine I-131)

♦   

การรักษามะเร็งโดยไม่ต้องผ่าตัด แต่ทำลายก้อนเนื้อเซลล์มะเร็งโดยใช้ความร้อนและคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Radiofrequency) การฉีดยาเข้าไปในก้อนมะเร็งโดยตรง (Percutaneous ethanol injection) หรือการใช้คลื่นไมโครเวฟ (Microwave ablation) สามารถใช้รักษาก้อนเนื้อและมะเร็งที่ตับ ปอด ไต และกระดูก

♦ 

การรักษามะเร็งตับและก้อนเนื้อที่มีเส้นเลือดไปเลี้ยงมาก (Hypervascular tumour) ด้วยการฉีดยาเข้าไปในก้อนมะเร็ง (Transcatheter arterial chemoembolization: TACE) ผ่านหลอดเลือดบริเวณขาหนีบ

♦  

การใช้กัมมันตรังสี ด้วยอิตเทรียม-90 (Yttrium-90) อุดเส้นเลือดใช้สำหรับการรักษามะเร็งตับ ก้อนเนื้อมะเร็งที่มีการแพร่กระจายไปที่ตับ โดยไม่ต้องผ่าตัด

การผ่าตัดด้วยระบบหุ่นยนต์ผ่าตัด (Robotic surgery: da Vinci Si HD) จากประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นเทคโนโลยีรุ่นใหม่ล่าสุดและมีคุณภาพที่สุด มีในประเทศไทยเป็นเครื่องแรก สามารถใช้ในการผ่าตัดผู้ป่วยหลายระบบได้แก่ ด้านศัลยกรรมระบบลำไส้ใหญ่ และทวารหนัก และด้านสูตินรีเวช เช่น ในโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งไต มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก และมะเร็งปากมดลูก
   
 
   
         ศูนย์เคมีบำบัดตึกว่องวานิช
 
 
 
ศูนย์เคมีบำบัดตึกว่องวานิช เปิดให้การบริการดูแลผู้ป่วยมะเร็งด้านการให้ยาเคมีบำบัดโดยไม่ต้องนอนโรงพยาบาล (Daycare Clinic) โดยมีเตียงสำหรับการให้ยาเคมีบำบัด 38 เตียง สามารถรองรับผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องมาให้ยาได้ถึงวันละ 100 คน มีการผสมยาเคมีบำบัดควบคุมโดยเภสัชกร นอกจากนี้ผู้ป่วยจะได้รับการดูแลและประเมินผลข้างเคียงในระหว่างการให้ยาเคมีบำบัดอย่างใกล้ชิด และสามารถขอรับคำปรึกษาเกี่ยวกับยาเคมีบำบัดโดยทีมพยาบาลผู้มีความชำนาญการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง
 
        
 
 

10 เหตุผลที่ผู้ป่วยเลือกมารักษามะเร็งที่สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

1. โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เป็นโรงเรียนแพทย์ชั้นนำของประเทศที่มีชื่อเสียงมานานร่วมร้อยปี
2. สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เปิดดำเนินการมามากกว่า 60 ปี และเป็นแหล่งผลิตบุคลากร ทางรังสีรักษาเป็นอันดับต้นของประเทศไทย
3. มีทีมการรักษาโรคมะเร็งอย่างครบวงจร โดยร่วมทำการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในทุกสาขา มีการจัดการประชุม วางแผนการรักษาระหว่างแพทย์สาขาต่างๆ (Tumour Board conference) มีการจัดทบทวนความรู้ในแต่ละโรค (Topic Review) มีการทบทวนและติดตามความรู้ใหม่ๆ จากวารสารทางการแพทย์ที่สำคัญของโลก (Journal  Club)  และรายงานความคืบหน้างานวิจัย (Research Club) ทำให้การดูแลผู้ป่วยเป็นไปแบบองค์รวม (Holistic Approach)  และมุ่งประโยชน์การรักษาเพื่อผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางให้มากที่สุด
4. เครื่องมือที่ใช้ในการรักษาได้มาตรฐานในทุกแผนก และสาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ถือว่าเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยี โดยได้รับการสนับสนุนจากสภากาชาดไทย รัฐบาล และผู้มีจิตศรัทธาที่ร่วมบริจาค
5. เป็นองค์กรภายใต้สภากาชาดไทย ซึ่งไม่แสวงหากำไรจากผู้ป่วย ค่าใช้จ่ายอ้างอิงตามราคากรมบัญชีกลาง  กระทรวงการคลัง สำนักงานหลักประกันสุขภาพ และสำนักงานประกันสังคม ผู้ป่วยสามารถเบิกค่าใช้จ่ายได้ตาม สิทธิการรักษา ภายใต้เงื่อนไขของต้นสังกัด
6. เรามีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและไม่หยุดยั้ง ในด้านงานบริการและการควบคุมคุณภาพผ่านทีมงานการรักษาผู้ป่วย (Patient Care Team) และได้รับการรับรองคุณภาพ ผ่านสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล ซึ่งเป็นองค์กรมหาชน
7. เปิดบริการตั้งแต่ 8:00 -19:00 น. โดยรับบริการทั้งผู้ป่วยในและนอกเวลาราชการ เรายังมีหอผู้ป่วยสำหรับผู้ป่วยอาการหนัก ทั้งหมดนี้เพื่อรองรับกับปริมาณผู้ป่วยใหม่ที่ให้ความไว้วางใจในการบริการและเชื่อมั่นในคุณภาพที่เรามอบให้ปีละมากกว่า 2,500 ราย
8. มีการพัฒนาทางวิชาการและงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง และได้รับการยอมรับทั้งในประเทศและนานาชาติ มีความร่วมมือทางวิชาการกับสมาคมรังสีรักษาและมะเร็งวิทยาแห่งประเทศไทย สมาคมนักฟิสิกส์การแพทย์ไทย และสมาคมรังสีเทคนิคแห่งประเทศไทย
9. การรักษาโรคมะเร็งต้องเข้ารับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ระยะต้นถึงระยะสุดท้าย มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ต้องรักษาในประเทศ โดยสามารถได้รับการดูแล ความเอาใจใส่จากทีมแพทย์ที่สื่อสารกันอย่างเข้าใจ และเข้าใจ ในพื้นฐานของวัฒนธรรมเดียวกัน ไม่ถูกหลอก ถูกเอารัดเอาเปรียบจากค่ารักษาจากการรักษาที่เกิดจากการโฆษณา ชวนเชื่อ ไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ การรักษาในลักษณะเช่นนี้นอกจากจะต้องเสียค่ารักษาเป็น จำนวนมากโดยที่ไม่สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้แล้ว ยังต้องเสียโอกาสการรักษาตั้งแต่ระยะแรก
10.  โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์อยู่ในทำเลที่เดินทางสะดวก อยู่ใจกลางกรุงเทพมหานคร สามารถเดินทางได้ทั้ง รถไฟฟ้า และรถไฟใต้ดิน หรือใช้บริการรถรับจ้างสาธารณะ
 
 
       Downloads    
 
 
 

 

สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา ฝ่ายรังสีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ 1873 ถนนพระราม4 ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
WEBMASTER CHULACANCER@YAHOO.COM

จำนวนคนเข้าใช้งาน

6 5 5 0 2 9 0

ข้อมูลในเว็บ chulacancer.net นี้เป็นข้อมูลเชิงวิชาการ การนำไปใช้รักษาผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย สาขารังสีรักษา
และมะเร็งวิทยาคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะไม่รับผิดชอบต่อผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติตามข้อมูลนี้ กรุณาปรึกษาแพทย์