การเตรียมตัวก่อนมารับยาเคมีบำบัด

1. พักผ่อนให้เพียงพอ

2. แพทย์จะให้ตรวจเลือดเพื่อดูระดับเม็ดเลือดว่าอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัยที่จะรับยาหรือไม่ก่อนรับยาเคมีบำบัดทุกรอบ

3. วันที่มารับยาสามารถรับประทานอาหาร และยาประจำตัวได้ตามปกติ กรณีมียาที่ใช้ประจำต่อเนื่องควรนำติดตัวมาด้วยเพื่อให้แพทย์พิจารณาการใช้ยาร่วมกับเคมีบำบัด

4. หากมีไข้ในวันที่ต้องให้ยาเคมีบำบัด กรุณาแจ้งแพทย์หรือพยาบาลก่อนทุกครั้ง

การปฏิบัติตัวหลังได้รับยาเคมีบำบัด
 
1. หลังจากได้รับยาฉีดภายใน 48 ชั่วโมง ปัสสาวะและอุจจาระของผู้ป่วยอาจมียาปนอยู่ หลังเข้าห้องน้ำควรทำความสะอาดด้วยน้ำมากกว่าปกติ เช่น กดชักโครก 2 ครั้ง
 
2. การรับรสชาติของอาหารเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดความรู้สึกขมในปาก การเคี้ยวหมากฝรั่งหรืออมลูกอมจะช่วยบรรเทาอาการได้
 
3. กรณีนอนไม่หลับอาจใช้ยาคลายเครียดตามแพทย์สั่ง 
 
4. ควรดื่มน้ำให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 1-2 ลิตรต่อวัน และรับประทานอาหารที่มีเส้นใยหรือใช้ยาระบายที่แพทย์สั่งให้ถ้ามีอาการท้องผูก
 
5. สวมผ้าปิดจมูก รับประทานอาหารที่สุกใหม่ๆ หรืออุ่นร้อนก่อนรับประทาน หลีกเลี่ยงผักสด ผลไม้เปลือกบาง เนื่องจากยาเคมีบำบัดสูตรนี้มีผลทำให้การสร้างเม็ดเลือดต่างๆ ลดลง ทำให้มีภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำซึ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 7-14 วันหลังรับยา
 
6. หากมีไข้ (วัดปรอททางปากได้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส) ท้องเสีย ปัสสาวะแสบขัด ควรรีบไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล เนื่องจากการติดเชื้อในสภาวะที่ภูมิต้านทานต่ำอาจมีความรุนแรงและอันตรายกว่าปกติ
 
7. ควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ไม่ควรงดเนื้อสัตว์หรืออาหารหมวดโปรตีน (ไข่ นม ถั่วต่างๆ) เพราะอาจทำให้ขาดสารอาหาร และปริมาณเม็ดเลือดน้อยกว่าที่กำหนด ทำให้ไม่สามารถให้ยาในรอบถัดไปได้
 
8. หากยังอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ต้องคุมกำเนิด วิธีที่เหมาะสมที่สุดคือการใช้ถุงยางอนามัย กรณีต้องการรับประทานยาคุมกำเนิดชนิดเม็ดควรปรึกษาแพทย์
 
9. ระหว่างการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดควรหยุดการใช้สมุนไพร เนื่องจากอาจทำให้มีผลต่อตับและไต และในปัจจุบันยังไม่มีผลการวิจัยที่แสดงอย่างชัดเจนถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยเมื่อให้คู่กัน 
 
10. ยาเคมีบำบัดแทบทุกชนิดจะมีผลข้างเคียงไม่เหมือนกัน โดยอาจมีอาการขณะกำลังได้รับยาเคมีบำบัดหรือภายหลังได้รับยาแล้ว ควรแจ้งผลข้างเคียงของยาที่เกิดให้แพทย์ทราบทุกครั้งในขณะที่ได้รับยาหรือก่อนมารับยาครั้งต่อไปเพื่อที่แพทย์จะได้ช่วยให้การรักษาหรือปรับขนาดยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วย

ข้อมูลจากกลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
ติดต่อสอบถาม ห้องยาว่องวานิช ชั้น 4 โทร 0-2256-4533, หน่วยมะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ โทร 0-2256-4533

สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา ฝ่ายรังสีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ 1873 ถนนพระราม4 ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
WEBMASTER CHULACANCER@YAHOO.COM

จำนวนคนเข้าใช้งาน

6 5 5 0 2 9 0

ข้อมูลในเว็บ chulacancer.net นี้เป็นข้อมูลเชิงวิชาการ การนำไปใช้รักษาผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย สาขารังสีรักษา
และมะเร็งวิทยาคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะไม่รับผิดชอบต่อผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติตามข้อมูลนี้ กรุณาปรึกษาแพทย์