ยาเคมีบำบัด

ยาเคมีบำบัดสูตร AC

ยา AC เป็นสูตรยาที่ใช้รักษาโรคมะเร็งเต้านม ซึ่งประกอบด้วยยา 2 ตัวคือ Doxorubicin (ด๊อก-โซ่-รู-บิ-ซิน) และยา Cyclophosphamide (ไซ-โค-ฟอส-ฟา-มาย) เป็นยาเคมีบำบัดสำหรับฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ ทุก 3 สัปดาห์ นับเป็น 1 รอบ นาน 4 รอบ โดยระยะเวลาในการให้ยานานประมาณสองชั่วโมง

ข้อควรระวังระหว่างรับยา
1. เนื่องจากผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ผู้ป่วยทุกรายจึงจะได้รับยาฉีดป้องกันอาการคลื่นไส้อาเจียนก่อนรับยาเคมีบำบัดประมาณ 30 นาที
2. ยาเคมีบำบัดทุกชนิดอาจทำให้เกิดอาการแพ้ยาได้ หากรู้สึกแน่นหน้าอก หัวใจเต้นผิดปกติ ใจสั่น เวียนศีรษะ หายใจติดขัด ต้องแจ้งพยาบาลทันที 
3. ยา Doxorubicin มีสีแดง และมีความระคายเคืองต่อเนื้อเยื่อสูง ถ้ามีอาการเจ็บแสบผิดปกติระหว่างให้ยาต้องรีบแจ้งพยาบาลทันที
4. ผู้ป่วยอาจได้รับน้ำแข็งให้อมระหว่างการให้ยาเพื่อป้องกันอาการข้างเคียงที่ทำให้เกิดเยื่อบุปากอักเสบและเจ็บได้

อาการข้างเคียงจากยาสูตรนี้
1. หลังได้รับยาประมาณ 2-3 วัน อาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียน พะอืดพะอม ซึ่งแพทย์จะสั่งยาป้องกันอาการให้กลับไปรับประทานต่อที่บ้าน
2. หากยังคงเจ็บหรือปวดบริเวณที่ฉีดยา ให้ประคบเย็นครั้งละประมาณ 15 นาที ทุก 4-6 ชั่วโมง
3. ช่วงสัปดาห์แรกหลังรับยาอาจมีอาการอ่อนเพลีย ไม่มีแรง ซึ่งจะค่อยๆ ดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป
4. ผู้ป่วยส่วนใหญ่เกิดอาการผมร่วง โดยช่วงแรกอาจเจ็บหนังศีรษะ การตัดผมสั้นอาจทำให้รู้สึกสบายและดูแลง่ายขึ้น หลังจากหยุดยาเคมีบำบัดผมจะค่อยๆขึ้นกลับมาเหมือนเดิม
5. หากมีอาการเจ็บหรือแสบร้อนในปากควรเปลี่ยนแปรงสีฟันเป็นชนิดขนนุ่มและบ้วนปากบ่อยๆด้วยน้ำสะอาดผสมเกลือเล็กน้อยเพื่อช่วยรักษาความสะอาดในช่องปาก ลดโอกาสติดเชื้อ ห้ามใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสมเพราะจะยิ่งระคายเคือง 
6. เล็บมือ เล็บเท้าอาจคล้ำลง ผิวหนังอาจไวต่อแสงแดด 

 

ข้อมูลจากกลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
ติดต่อสอบถาม ห้องยาว่องวานิช ชั้น 4 โทร 0-2256-4533, หน่วยมะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ โทร 0-2256-4533

สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา ฝ่ายรังสีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ 1873 ถนนพระราม4 ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
WEBMASTER CHULACANCER@YAHOO.COM

จำนวนคนเข้าใช้งาน

6 5 5 0 2 9 0

ข้อมูลในเว็บ chulacancer.net นี้เป็นข้อมูลเชิงวิชาการ การนำไปใช้รักษาผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย สาขารังสีรักษา
และมะเร็งวิทยาคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะไม่รับผิดชอบต่อผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติตามข้อมูลนี้ กรุณาปรึกษาแพทย์