สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

เครื่องจำลองการรักษาแบบ 3-4 มิติ (CT Simulator)

การจำลองการฉายรังสี เพื่อให้ทราบถึงตำแหน่ง ขนาดและรูปร่างที่แท้จริงของก้อนเนื้อร้ายและอวัยวะปกติที่อยู่รอบข้างก้อนเนื้อร้าย โดยทางสาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มีเครื่องจำลองการรักษาที่ทันสมัยเทียบเท่าสถาบันชั้นนำอื่นๆ ของโลก
 
 
เครื่องจำลองการรักษาแบบ 3 มิติ
มีลักษณะและการทำงานเหมือนเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ทั่วไป แต่มีลักษณะเด่นที่แตกต่างจากเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ทั่วไป 4 ประการ คือ
  1. มีเตียงที่แบนราบเหมือนเตียงในห้องฉายรังสี เนื่องจากต้องการให้ผู้ป่วยนอนอยู่ในลักษณะท่าทางเดียวกันกับระหว่างการฉายรังสี
  2. โพรงสำหรับให้ผู้ป่วยผ่านมีขนาดใหญ่กว่าของเครื่องเอกซเรย์ คอมพิวเตอร์ทั่วไป (เส้นผ่านศูนย์กลาง 80 ซม.) เนื่องจากในการรักษาผู้ป่วยด้วยรังสีจะต้องฉายรังสีหลายครั้ง อาจใช้เวลามากกว่า 1 เดือน ดังนั้นอุปกรณ์ยึดตรึง (immobilization) แบบต่างๆ จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการช่วยให้ผู้ป่วยอยู่นิ่งในระหว่างการฉายรังสีแต่ละครั้ง เครื่องจำลองการรักษาแบบ 3 มิติจึงออกแบบโพรงให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเป็นพิเศษเพื่อที่จะสามารถให้ผู้ป่วยพร้อมอุปกรณ์ยึดตรึงผ่านเข้าไปได้
  3. มีเลเซอร์ภายนอกเครื่องจำลองการรักษา อุปกรณ์ชนิดนี้ถูกยึดติดไปกับผนังและเพดานห้อง ทำให้ตำแหน่งของเลเซอร์คงที่ โดยเลเซอร์มีหน้าที่ช่วยจัดท่าผู้ป่วยให้อยู่ตำแหน่งเดิม โดยชุดเลเซอร์ของทางโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เป็นแบบพิเศษที่สามารถเคลื่อนที่ได้ทั้ง 6 ทิศทาง (บน-ล่าง,ซ้าย-ขวา,หน้า-หลัง) จึงสามารถใช้กำหนดขอบเขตที่ต้องการทำการรักษาได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ถูกต้อง และแม่นยำ
  4. โปรแกรมสำหรับจำลองการรักษา โปรแกรมนี้สามารถจัดวางลำรังสีและกำหนดตำแหน่งของอุปกรณ์กำบังลำรังสี รวมถึงอุปกรณ์ตกแต่งลำรังสีบนจอคอมพิวเตอร์ได้โดยตรง ดังนั้นผู้ป่วยจึงไม่ต้องเสียเวลารอในระหว่างที่แพทย์ทำการจำลองการรักษา สามารถกลับบ้านได้ทันทีหลังสร้างภาพเอกซเรย์เสร็จ

นอกจากนี้เครื่องจำลองการรักษาเครื่องนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นเครื่องจำลองการรักษาแบบ 4 มิติ (3 มิติ+เวลา) ได้ด้วย (เป็นเครื่องแรกในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้) เนื่องจากมีชุดอุปกรณ์ตรวจสอบการเคลื่อนของก้อนเนื้อร้ายตามจังหวะการหายใจของผู้ป่วย (Respiratory Gaing) เพิ่มขึ้นมา อุปกรณ์ชนิดนี้เป็นประโยชน์อย่างมากในผู้ป่วยที่มีก้อนเนื้อร้ายอยู่ในอวัยวะที่มีการเคลื่อนไหวตลอดเวลาที่เราไม่สามารถควบคุมได้ นั่นคือบริเวณทรวงอกและช่องท้องส่วนบน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าก้อนเนื้อร้ายอยู่ในปอด ซึ่งก้อนเนื้อร้ายจะมีการเคลื่อนที่ตลอดเวลา ถ้าไม่มีอุปกรณ์ชุดนี้จะทำให้ไม่ทราบลักษณะการเคลื่อนที่แท้จริงของตัวก้อน จึงอาจส่งผลให้ประสิทธิภาพการรักษาลดลง