สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

เครื่องจำลองการรักษาแบบ 2 มิติ (Acuity Simulator)

เครื่องจำลองการรักษาแบบ 2 มิติ (Acuity Simulator)

ก่อนที่จะทำการรักษาผู้ป่วยด้วยรังสี จำเป็นที่จะต้องมีการจำลองการรักษาก่อน เพื่อให้ทราบถึงตำแหน่ง ขนาดและรูปร่างที่แท้จริงของก้อนเนื้อร้ายและอวัยวะปกติที่อยู่รอบข้างก้อนเนื้อร้าย โดยทางสาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มีเครื่องจำลองการรักษาที่ทันสมัยเทียบเท่าสถาบันชั้นนำอื่นๆ ของโลก ซึ่งทางสาขาฯ มีเครื่องจำลองการรักษาทั้ง 2 ชนิดที่ทั่วโลกนิยมใช้กัน ได้แก่

เครื่องจำลองการรักษาแบบ 2 มิติ

Varian Acuity Simulator เป็นเครื่องจำลองการรักาาที่สามารถให้รังสีเอกซ์ใน 2 ระบบ คือ ระบบถ่ายภาพนิ่งสำหรับดูภาพบนฟิล์มและระบบถ่ายภาพเคลื่อนไหวสำหรับดูการเคลื่อนไหวของอวัยวะขณะนั้นบนจอคอมพิวเตอร์

เครื่องจำลองการรักษาชนิดนี้จำลองลักษณะการทำงานทางกายภาพทุกอย่างมาจากเครื่องฉายรังสี จึงมีรูปร่าง ลักษณะภายนอกคล้ายเครื่องฉายรังสีแต่มีสิ่งที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน คือพลังงานโดยพลังงานของรังสีจากเครื่องฉายแสงเป็นพลังงานระดับสูง(ล้านโวลเตจ;โคบอลต์-60 หรือเครื่องเร่งอนุภาค) เนื่องจากต้องการทำเซลล์ที่ผิดปกติแต่พลังงานของรังสีเอกซ์จากเครื่องจำลองการรักษาเป็นพลังงานระดับต่ำ (กิโลโวลเตจ) เนื่องจากต้องการเพียงภาพที่จะนำมาวางแผนการรักษาเท่านั้น

เครื่องจำลองการรักษาเครื่องนี้เป็นเครื่องถ่ายภาพด้วยรังสีเอกซ์แบบ 2 มิติ ที่เป็นระบบดิจิตอล สามารถปรับภาพรังสีที่ดำเกินไปหรือขาวเกินไปให้อยู่ในระดับความดำที่เหมาะสมจากจอคอมพิวเตอร์ได้โดยตรง จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องถ่ายภาพเอกซเรย์ใหม่เหมือนเครื่องจำลองการรักษาแบบ 2 มิติรุ่นเดิมๆ ที่ต้องใช้ฟิล์มแสดงภาพทางรังสี จึงเป็นการลดปริมาณรังสีที่ไม่จำเป็นแก่ผู้ป่วยลงได้ และเนื่องจากเป็นเครื่องจำลองการรักษาระบบดิจิตอล จึงสามารถส่งทั้งข้อมูลและภาพรังสีผ่านระบบเครือข่ายได้โดยตรง ทำให้ลดปัญหาการวางแผนการรักษาผู้ป่วยผิดคนได้อีกทาง