สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

มะเร็งและเนื้องอกในเด็ก (Pediatric tumors)

ข้อมูล ณ วันที่ 1 พ.ค. 2566

ความรู้ทั่วไป

       มะเร็งในเด็กเป็นโรคที่จัดว่าพบได้น้อย จากข้อมูลสถิติโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์พบผู้ป่วยมะเร็งเด็กคิดเป็น 1-2 % ของโรคมะเร็งทั้งหมด โดยมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในเด็ก คือมะเร็งเม็ดเลือดขาว รองลงมาคือมะเร็งของสมอง โรคมะเร็งในเด็กส่วนใหญ่จะมีลักษณะเซลล์ที่แตกต่างกับเซลล์มะเร็งในผู้ใหญ่ สาเหตุการเกิดไม่เป็นที่แน่ชัด

หลักการรักษา

       ในปัจจุบันมะเร็งเด็กหลายชนิดมีผลการรักษาที่ดีมาก ทั้งนี้เพราะมีพัฒนาการของการรักษาที่ดีขึ้นไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัด เคมีบำบัด และรังสีรักษา ส่งผลให้มีอัตราการรอดชีวิตสูง เด็กสามารถเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ สำหรับการรักษามเร็งชนิดเป็นก้อน (solid tumor) การผ่าตัดมักเป็นการรักษาหลักในระยะโดยเฉพาะในระยะที่ยังไม่มีการแพร่กระจาย ร่วมกับยาเคมีบำบัด และ/หรือ การฉายรังสี

การฉายรังสี

       การฉายรังสีจึงจัดเป็นการรักษาที่มีบทบาทสำคัญในมะเร็งของเด็กหลายๆชนิดร่วมกับการผ่าตัดและยาเคมีบำบัด เช่น มะเร็งของสมอง มะเร็งบริเวณศีรษะและคอ มะเร็งกระดูกและเนื้อเยื่อเกี่ยวพันชนิด Ewing sarcoma, Rhabdomyosarcoma มะเร็งบริเวณไต/ต่อมหมวกไต ชนิด neuroblastoma, Wilm’s tumor รวมถึงมะเร็งต่อมน้ำเหลืองและมะเร็งเม็ดเลือดขาวบางกรณี นอกจากนี้การฉายรังสียังเป็นการรักษาหลักทดแทนการผ่าตัดในกรณีที่การผ่าตัดอาจทำให้ผู้ป่วยทุพพลภาพหรือเกิดผลข้างเคียงรุนแรง รวมถึงอาจฉายรังสีเพื่อบรรเทาอาการผู้ป่วยในระยะแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น
       เมื่อผู้ป่วยเด็กจำเป็นที่ต้องได้รับการฉายรังสี เราจะพยายามให้ปริมาณรังสีเท่าที่จำเป็น เพื่อให้เกิดผลข้างเคียงจากการฉายรังสีน้อยสที่สุด สำหรับมะเร็งของสมองมักฉายรังสีประมาณ 20-33 ครั้ง และใช้ระยะเวลาประมาณ 4-6 สัปดาห์ และทีมแพทย์จะเลือกเทคนิคการฉายรังสีที่ทำให้ปริมาณรังสีครอบคลุมบริเวณก้อนมะเร็ง และหลีกเลี่ยงให้เนื้อเยื่อปกติได้รับรังสีน้อยที่สุด สำหรับการฉายรังสีชนิดโฟตอน (เอกซเรย์) มีทั้งวิธีการฉายรังสี 3 มิติ (3D-conformal radiotherapy), การฉายรังสีด้วยเทคนิคปรับความเข้ม (Intensity Modulated Radiation Therapy, IMRT) และการฉายรังสีปรับความเข้มแบบหมุน (Volumetric Arc Therapy, VMAT) นอกจากนี้ ในปัจจุบันมีการพัฒนาเครื่องฉายรังสีที่ใช้อนุภาคโปรตอนเข้ามาใช้ในการรักษาโรคมะเร็งในเด็ก ซึ่งด้วยคุณสมบัติทางฟิสิกส์ของรังสีโปรตอนจะอวัยวะปกตินอกเหนือก้อนมะเร็งได้รับรังสีน้อย ส่งผลให้โอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนในระยะยาวลดน้อยลง อย่างไรก็ตาม การเลือกจำนวนครั้งและเทคนิคการฉาย ควรได้รับการประเมินจากทีมแพทย์และพิจารณาตามความเหมาะสมเป็นรายๆไป
       ก่อนเริ่มการฉายรังสี ผู้ป่วยจะได้รับการจำลองการฉายรังสีด้วยเครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT simulator) และ/หรือ เครื่องเอ็มอาร์ (MRI simulator) ซึ่งจะต้องมีการทำวัสดุยึดตรึงผู้ป่วย (Immobilization) เพื่อให้ผู้ป่วยและตำแหน่งที่ต้องการฉายรังสีมีการเคลื่อนที่น้อยที่สุด และมีตำแหน่งที่ตรงกันในทุกๆวันของการฉายแสง ในผู้ป่วยเด็กเล็กบางรายอาจมีความกังวลหรือไม่สามารถอยู่นิ่งๆได้นาน จึงมีความจำเป็นต้องมีการให้ยานอนหลับหรือดมยาสลบในช่วงระหว่างการจำลองการฉายรังสีและระหว่างการฉายรังสี ซึ่งการจำลองการฉายรังสีส่วนใหญ่จะใช้ระยะเวลาประมาณ 30-60 นาที ส่วนการฉายรังสีในแต่ละวันจะใช้เวลาประมาณ 10-60 นาที การดมยาจึงเป็นเพียงระยะเวลาสั้นๆในแต่ละวัน โดยผู้ป่วยที่จะต้องได้รับการดมยาสลบจำเป็นต้องได้รับการประเมินจากทีมแพทย์วิสัญญีและกุมารแพทย์ร่วมด้วย
       ผู้ป่วยเด็กไม่ได้เป็นเพียงแค่ผู้ใหญ่ที่ตัวเล็กเท่านั้น การให้การดูแลรักษาจะต้องให้ความสำคัญในบางเรื่องเป็นพิเศษแตกต่างจากผู้ใหญ่ เช่นการทำหน้ากากเพื่อยึดตรึงขณะฉายรังสี เป็นรูปการ์ตูนตามที่เด็กชอบ และมีการออกแบบบัตรประจำตัวในระหว่างการฉายรังสีมีให้ดูสดใสน่ารัก และเด็กสามารถเลือกสติกเกอร์ติดในบัตรทุกครั้งของการฉายรังสี การเตรียมขนมหรือของเล่นเพื่อเป็นรางวัลในการมาฉายรังสีแต่ละครั้ง ก็เป็นสิ่งที่ช่วยให้เด็กไม่กลัวและให้ความร่วมมือในการมาฉายรังสีตามกำหนดเวลา อีกทั้งเมื่อเด็กรู้สึกคุ้นเคย และไว้ใจ ทำให้สามารถลดการดมยาระหว่างการฉายรังสีในผู้ป่วยเด็กบางรายได้อีกด้วย การพูดคุย ให้กำลังใจ เพื่อให้พ่อแม่ ผู้ปกครองและเด็ก เข้าใจขั้นตอนการรักษา รู้สึกเป็นกันเองและมีความเชื่อมั่นในทีมผู้รักษาเป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่จะทำให้การรักษาต่อเนื่องและครบตามที่กำหนด เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงสุด

    หน้ากากใช้เป็นวัสดุยึดตึงผู้ป่วยและบัตรประจำตัวผู้ป่วยเด็กระหว่างการฉายรังสี

ผลข้างเคียงจากการฉายรังสี
        ผลข้างเคียงจากการฉายรังสีในผู้ป่วยเด็กแต่ละรายมีความแตกต่างกัน ขึ้นกับตำแหน่งที่ได้รับการฉายรังสี เช่น การฉายรังสีบริเวณสมอง อาจเกิดอาการผมร่วง ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ฮอร์โมนบกพร่อง ปัญหาด้านการได้ยิน ระดับสติปัญญา หากได้รับการฉายรังสีบริเวณกระดูกโดยเฉพาะกระดูกไขสันหลัง อาจมีภาวะเม็ดโลหิตต่ำ การเจริญของกระดูกลดลง หากรังสีกระทบบริเวณช่องท้อง อาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ท้องอืด เป็นต้น อย่างไรก็ตามผลข้างเคียงจะขึ้นกับเทคนิคการฉายรังสี ปริมาณรังสี และขึ้นกับผู้ป่วยแต่ละราย แนะนำให้ปรึกษาทีมแพทย์และตรวจติดตามตามที่แพทย์ผู้ทำการรักษานัดอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากผลข้างเคียงหลายชนิดสามารถหายได้เอง และผลข้างเคียงหลายชนิดสามารถหายหรือบรรเทาอาการได้หากตรวจพบและรับการรักษาอย่างทันท่วงที