สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

มะเร็งและเนื้องอกในสมองและกะโหลกศีรษะ

ข้อมูล ณ วันที่ 1 พ.ค. 2566

หลักการรักษา

       การรักษาของมะเร็งและเนื้องอกในสมองและกะโหลกศีรษะมักเริ่มต้นด้วยการผ่าตัดก้อนออกให้ได้มากที่สุด อย่างไรก็ตาม สมองและกะโหลกศีรษะเป็นอวัยวะที่มีกายวิภาคซับซ้อน ทำให้การผ่าตัดเนื้องอกในบางตำแหน่งของสมองหรือกะโหลกศีรษะทำได้ยาก และ/หรือ อาจทำให้สมองเกิดการสูญเสียการทำงานที่สำคัญ การฉายรังสีมีบทบาทในกรณีมีข้อห้ามในการรักษาด้วยการผ่าตัด ผ่าตัดได้ไม่หมด และ/หรือเป็นเนื้องอกชนิดที่มีโอกาสกลับเป็นซ้ำได้สูง นอกจากนี้การให้ยาเคมีบำบัดมีบทบาทในโรคมะเร็งในสมองบางชนิด

ความรู้ทั่วไป

       เนื้องอกในสมองและกะโหลกศีรษะพบได้ทั้งชนิดที่เป็นมะเร็งและไม่ใช่มะเร็ง มะเร็งของสมองที่พบได้บ่อย คือมะเร็งชนิด glioma และ glioblastoma ส่วนเนื้องอกที่ไม่ใช่มะเร็งที่พบได้บ่อย เช่น เนื้องอกของเยื่อหุ้มสมอง (meningioma), เนื้องอกของต่อมพิทูอิทารี (pituitary adenoma) เป็นต้น เนื้องอกชนิดที่ไม่ใช่มะเร็งเหล่านี้มักทำให้เกิดการกดเบียดสมองและเส้นประสาทสมอง หากเกิดใกล้กับเส้นประสาทตาจะทำให้เกิดอาการแสดง เช่น การมองเห็นลดลง เห็นภาพซ้อน หากก้อนโตเร็วหรือมีขนาดใหญ่ อาจทำให้เกิดอาการชัก หรือตาบอดได้


การฉายรังสี

  • ก่อนการฉายรังสี ผู้ป่วยจะได้รับการจำลองการฉายรังสี คือการจัดท่าทางเสมือนวันฉายรังสีจริง เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และ/หรือภาพเอ็มอาร์ ทำหน้ากากยึดตรึง เพื่อใช้ทุกวันที่ฉายรังสีและทำให้ศีรษะไม่ขยับ หลังจากนั้นแพทย์และนักฟิสิกส์ใช้เวลาวางแผนประมาณ 1-2 สัปดาห์ก่อนเริ่มฉายจริง
  • การฉายรังสีมักทำ 25-33 ครั้ง ขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็งและเนื้องอก ผู้ป่วยจะได้รับการฉายรังสีทุกวันวันจันทร์ถึงศุกร์ วันละ 1 ครั้ง รวมระยะเวลาประมาณ 5-7สัปดาห์ ระหว่างฉายรังสีแต่ละครั้งใช้เวลา 5-10 นาที ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกอะไร ไม่เจ็บปวด เพียงนอนนิ่งๆ นักรังสีการแพทย์จะเป็นผู้เช็คตำแหน่งให้ตรงกับที่แพทย์วางแผนไว้ แล้วฉายรังสี ผู้ป่วยต้องมารพ.ทุกวันระหว่างฉายรังสี โดยปกติมักไม่จำเป็นต้องลางาน เว้นแต่เดินทางมารพ.ไกล อาจจำเป็นต้องหาที่พักใกล้โรงพยาบาล

ผลข้างเคียง

       ผลข้างเคียงที่พบบ่อย ได้แก่ อ่อนเพลีย หนังศีรษะเกิดการระคายเคืองได้ รวมทั้งเส้นผมบริเวณที่ฉายรังสีร่วง โดยที่เส้นผมสามารถขึ้นมาได้ใหม่หลังจากฉายรังสีครบ แต่อาจจะมีลักษณะที่ไม่เหมือนเดิม บางครั้งการฉายรังสีอาจทำให้ความจำระยะสั้นลดลงได้ ในบางกรณีการฉายรังสีก้อนที่อยู่ใกล้อวัยวะสำคัญ เช่น เส้นประสาทตา หูชั้นใน ก้านสมอง เป็นต้น อาจทำให้เกิดความเสี่ยงของการบกพร่องในการทำงานของอวัยวะนั้นๆ


การดูแลตนเองขณะฉายรังสี

  • ทานอาหารครบ 5 หมู่ และพักผ่อนให้เพียงพอ เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ร่างกายที่ได้รับรังสีรักษาได้ พักฟื้นอย่างเต็มที่ และลดโอกาสการเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงได้ หากรับประทานอาหารเสริมใดๆ อยู่ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบว่าสามารถรับประทานได้หรือไม่
  • ผู้ป่วยมักมีอาการทางระบบประสาท เช่น อ่อนแรง เดินไม่ได้ ขยับได้น้อย การมองเห็นผิดปกติ หลงลืม กลืนผิดปกติ ฯลฯ​อาจต้องการการดูแลเป็นพิเศษจากครอบครัวและคนรอบข้าง เช่น การกายภาพบำบัด อาหารและโภชนาการ แพทย์จะให้การดูแลโดยมีสหสาขาวิชาชีพเกี่ยวข้อง เพื่อช่วยฝึกให้ครอบครัวของผู้ป่วยมีความรู้ความเข้าใจในการดูแลผู้ป่วย