สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

มะเร็งหู คอ จมูก อื่นๆ

ข้อมูล ณ วันที่ 30 มกราคม 2022

ความรู้ทั่วไป

เป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยติดอันดับ 1 ใน 10 ในเพศชาย แบ่งเป็นมะเร็งตามอวัยวะต่างๆ ตามลำดับพบมากไปน้อยดังนี้ 

  • มะเร็งลิ้น 
  • มะเร็งคอหอยหลังโพรงจมูก 
  • มะเร็งกล่องเสียง
  • มะเร็งช่องปาก 
  • มะเร็งหลังกล่องเสียง 
  • มะเร็งคอหอยหลังช่องปาก 
  • มะเร็งโพรงจมูกและไซนัส 
  • มะเร็งต่อมน้ำลาย
  • มะเร็งริมฝีปาก ตามลำดับ 

       สาเหตุโดยส่วนใหญ่มีความสัมพันธ์กับการสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากนี้ไวรัสบางชนิดยังเป็นสาเหตุของมะเร็ง เช่น มะเร็งคอหอยหลังช่องปากสัมพันธ์กับการติดเชื้อ HPV (Human papilloma virus), มะเร็งคอหอยหลังโพรงจมูกสัมพันธ์กับการติดเชื้อ EBV (Epstein-Barr virus) แต่ไม่ใช่ทุกคนที่ติดเชื้อไวรัสดังกล่าวจะเป็นมะเร็ง 
       อาการที่มาพบแพทย์ขึ้นกับว่ามะเร็งอยู่ที่อวัยวะใด อาการที่พบได้บ่อยเช่น แผลเรื้อรังหรืออาการเจ็บเรื้อรังในช่องปาก,ลิ้น หรือคอหอย กลืนเจ็บ/ลำบาก คลำก้อนได้ที่คอ เป็นต้น
แพทย์วินิจฉัยโรคโดยการตัดชิ้นเนื้อบริเวณโรคตั้งต้นหรือต่อมน้ำเหลืองที่คอไปตรวจทางพยาธิวิทยา ซึ่งร้อยละ 90 พบเป็นเซลล์มะเร็งชนิดสแควมัส (squamous cell carcinoma) แพทย์จะตรวจเลือด และเอกซเรย์คอมพิวเตอร์/ภาพเอ็มอาร์/เพ็ทสแกนเพิ่มเติมเพื่อจัดระยะของโรค อวัยวะที่มักเกิดการแพร่กระจายไป คือ ปอด, ตับ, กระดูก การกระจายไปต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอถือว่าเป็นระยะลุกลามเฉพาะที่ ไม่ใช่ระยะแพร่กระจาย


หลักการรักษา

       การรักษาหลักมี 3 อย่างได้แก่ การผ่าตัด การฉายรังสี และการให้ยา ซึ่งอาจเป็นยาเคมีบำบัด,ยามุ่งเป้าหรือยาภูมิคุ้มกัน ขึ้นกับระยะโรค การรักษาอาจใช้เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือใช้หลายๆ อย่างประกอบกัน นอกจากนี้แพทย์จะพิจารณาสภาพร่างกายและโรคประจำตัวของผู้ป่วยแต่ละรายเพื่อเลือกการรักษาที่เหมาะสม

ระยะเริ่มต้นและระยะลุกลามเฉพาะที่

  • การผ่าตัดมักเป็นการรักษาหลักในมะเร็งระยะต้นบริเวณช่องปาก มะเร็งกล่องเสียงที่ลุกลามเข้ากระดูกอ่อนหน้ากล่องเสียง มะเร็งโพรงไซนัส และมะเร็งต่อมน้ำลายเป็นต้น ซึ่งหากผลชิ้นเนื้อจากการผ่าตัดบ่งบอกว่ามีความเสี่ยงในการกำเริบของโรคสูง ผู้ป่วยจะได้รับการฉายรังสีและ/หรือให้เคมีบำบัดควบคู่ ตามหลังการผ่าตัดด้วย
  • การฉายรังสี และ/หรือให้เคมีบำบัดควบคู่ เป็นการรักษาหลักกรณีก้อนมะเร็งอยู่ชิดกับอวัยวะสำคัญมาก ทำให้ไม่สามารถผ่าตัดให้ได้ขอบเขตกว้าง, กรณีการผ่าตัดทำให้เกิดการสูญเสียการทำงานของอวัยวะนั้นๆ มากเกินไปและต้องการรักษาแบบสงวนอวัยวะ, หรือในผู้ป่วยที่สภาพร่างกายไม่พร้อมสำหรับการผ่าตัด
  • มะเร็งระยะเริ่มต้นในบางอวัยวะอาจสามารถเลือกได้ทั้งการผ่าตัดหรือการฉายรังสี โดยมีข้อดีข้อเสียต่างกัน ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาและอธิบายให้ผู้ป่วย

ระยะแพร่กระจาย

  • การรักษาหลักจะเป็นการให้ยา หลังจากนั้นแพทย์จะประเมินการตอบสนองต่อการรักษา แล้วอาจให้การรักษาเสริมตามหลัง เช่น ฉายรังสีตามอวัยวะต่างๆ ที่มีการแพร่กระจาย แต่หากผู้ป่วยมีอาการของก้อนมะเร็งที่อวัยวะนั้นๆ มาก เช่น ปวดกระดูก, ก้อนมะเร็งกดทับเส้นประสาท ฯลฯ มักเริ่มการรักษาด้วยการฉายรังสีก่อน หรือให้การรักษาเฉพาะที่เช่น ผ่าตัด แล้วจึงให้ยา

รังสีรักษาและยาเคมีบำบัด

  • ผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและลำคอระยะเริ่มต้นและระยะลุกลามเฉพาะที่ จะได้รับการฉายรังสีจำนวน 25-35 ครั้ง ทั้งกรณีฉายตามหลังการผ่าตัด และกรณีฉายรังสีเป็นการรักษาหลัก
  • ก่อนการฉายรังสีแพทย์จะนัดทำการจำลองการฉายรังสีและทำหน้ากากยึดตรึง เพื่อใช้ทุกวันที่ฉายรังสี ทำให้ศีรษะไม่ขยับ
  • หลังการจำลองการฉายรังสี 1-2 สัปดาห์ จะเริ่มฉายรังสี โดยฉายรังสีจำนวน 30-35 ครั้ง วันจันทร์ถึงศุกร์ วันละ 1 ครั้ง รวมระยะเวลา 5-7 สัปดาห์ ระหว่างฉายรังสีแต่ละครั้งใช้เวลา 5-10 นาที ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกอะไร ไม่เจ็บปวด เพียงนอนนิ่งๆ สวมหน้ากากเพื่อไม่ให้ศีรษะขยับเขยื้่อน นักรังสีการแพทย์จะเป็นผู้เช็คตำแหน่งให้ตรงกับที่แพทย์วางแผนไว้ แล้วฉายรังสี ผู้ป่วยต้องมารพ.ทุกวันระหว่างฉายรังสี โดยปกติมักไม่จำเป็นต้องลางาน เว้นแต่เดินทางมารพ.ไกล อาจจำเป็นต้องหาที่พักใกล้โรงพยาบาล
  • ผู้ป่วยจะได้รับการฉายรังสีด้วยเทคนิคสามมิติหรือเทคนิคปรับความเข้มหรือ intensity modulated radiation therapy
  • ยาเคมีบำบัดควบคู่รังสี อาจให้ทุกสัปดาห์ๆ ละ 1 ครั้ง (รวม 6-7 ครั้ง) หรือให้ทุก 3 สัปดาห์ (รวม 2-3 ครั้ง) ยาเคมีบำบัดควบคู่รังสีที่ใช้บ่อย ได้แก่ ซิสพลาติน (cisplatin), คาร์โบพลาติน (carboplatin) ในผู้ป่วยที่ไม่สามารถรับยาเคมีบำบัดได้อาจใช้ยามุ่งเป้า cetuximab ทดแทน
  • กรณีฉายรังสีตามอวัยวะต่างๆ ที่มีการแพร่กระจายสามารถทำได้หลายแบบ ทั้งการฉายรังสีแบบ 2 มิติ,​3 มิติ, แบบปรับความเข้ม และการฉายรังสีศัลยกรรม (stereotactic body radiation therapy (SBRT)) โดยมักฉายตั้งแต่ 1-10 ครั้ง

ผลข้างเคียง

ขณะฉายรังสี 5-7 สัปดาห์อาจพบอาการข้างเคียงได้ แบ่งเป็นรายสัปดาห์ดังอธิบายด้านล่าง หากผู้ป่วยได้รับยาเคมีบำบัดควบคู่อาจมีผลข้างเคียงมากขึ้น เช่น คลื่นไส้อาเจียน การทำงานของไตลดลง

  • สัปดาห์ที่ 1-2 ผู้ป่วยมักเบื่ออาหารมากขึ้น ลิ้นรับรสได้แย่ลงหรือเปลี่ยนไป เช่นดื่มน้ำแล้วมีรสขมปากหรือเปรี้ยวเป็นต้น มักจะยังไม่มีอาการเจ็บปาก แต่น้ำลายจะเริ่มลดลง
  • สัปดาห์ที่ 3-4 เริ่มมีอาการเจ็บปาก เจ็บคอเวลากลืน น้ำลายแห้งเหนียว เริ่มมีแผลในปาก ผิวหนังคันและแห้ง
  • สัปดาห์ที่ 5-7 อาการข้างเคียงจะเป็นมากขึ้น ผู้ป่วยมักจะอ่อนเพลีย เจ็บปากและกลืนเจ็บมากขึ้น น้ำหนักมักจะลดมาแล้วประมาณ 5 กิโลกรัม ทานอาหารได้น้อย ผิวหนังแดง แสบ คัน สีผิวคล้ำขึ้น ท้องผูก ในช่วงนี้แพทย์อาจแนะนำให้ใส่สายให้อาหารทางจมูกชั่วคราวเพื่อเพิ่มโภชนาการ ในผู้ป่วยที่น้ำหนักลดมากหรือทานอาหารทางปากไม่ได้เลย
  • แพทย์จะนัดตรวจทุกสัปดาห์ระหว่างการฉายรังสี ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจเลือด และตรวจอาการ ตลอดจนประเมินสภาพร่างกายและการตอบสนองต่อการรักษา แพทย์จะให้ยาแก้เจ็บปวดและยาบรรเทาอาการข้างเคียงดังที่กล่าวมา
  • การฉายรังสีให้ครบอย่างต่อเนื่องเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการควบคุมโรค ดังนั้นผู้ป่วยไม่ควรหยุดการฉายรังสีกลางคันหากไม่จำเป็น

ผลข้างเคียงระยะยาว อาจเกิดได้ตั้งแต่ 6 เดือนถึงมากกว่า 5 ปีหลังฉายรังสี เช่น ภาวะฮอร์โมนต่อมไทรอยด์ต่ำกรามติด พังผืดบริเวณคอ การได้ยินลดลง ความผิดปกติของการกลืนและเส้นประสาทสมอง เป็นต้น


การดูแลตนเอง

       ขณะฉายรังสี แนะนำให้บ้วนปากด้วยน้ำเกลือบ่อยๆ เพื่อป้องกันการเกิดเชื้อราในช่องปาก ล้างโพรงจมูกเช้าเย็นเป็นอย่างน้อย แนะนำให้ทานอาหารโปรตีนสูงเช่น เนื้อสัตว์ นม ไข่ขาว พยายามอย่าให้น้ำหนักลดเกินสัปดาห์ละ 1 กิโลกรัม ในช่วงที่เจ็บปากมากขึ้นควรใช้ยาแก้ปวดตามแพทย์สั่งและเสริมอาหารที่มีพลังงานสูง เช่น อาหารหรือนมทางการแพทย์ ไอศครีม, หากมีอาหารแสบ คัน ผิวคล้ำขึ้นแนะนำให้ทาโลชั่นบำรุงผิว ชนิดให้ความชุ่มชื้น และไม่ควรมีส่วนประกอบของน้ำหอม นอกจากนี้ควรงดการสูบบุหรี่เด็ดขาด
       ภายหลังการฉายรังสีครบประมาณ 2 สัปดาห์ ผู้ป่วยจะค่อยๆฟื้นฟูสภาพร่างกาย อาการเจ็บปากจะลง จะทานอาหารได้มากขึ้น แผลในปากจะค่อยๆ หายไป แนะนำให้ล้างโพรงจมูกด้วยน้ำเกลือเช้า-เย็นไปเรื่อยๆ ควรทานอาหารที่มีโปรตีนสูงต่อเนื่อง ในระยะยาวควรกายบริหารกรามและลำคอเพื่อลดอาการยึดจากพังผืด และพบทันตแพทย์ปีละ 1-2 ครั้งเพื่อตรวจสุขภาพช่องปากและฟัน


การตรวจติดตาม

       แพทย์จะนัดตรวจติดตามการรักษาเป็นระยะ มักนัดตรวจทุก 3-4 เดือนในช่วง 3 ปีแรก และทุก 6 เดือนในปีที่ 3-5เมื่อพ้น 5 ปี ไปแล้วมักจะนัดติดตามปีละครั้ง การตรวจติดตามผลมีเป้าหมายเพื่อดูว่ามีมะเร็งกำเริบหรือไม่ และตรวจดูการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ซึ่งมักจะเกิดการแพร่กระจายในปีแรกๆ หลังการรักษา รวมถึงการเฝ้าระวังผลข้างเคียงระยะยาว แพทย์จะใช้การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ภาพเอ็มอาร์ และ/หรือการเจาะเลือด เพื่อติดตามสุขภาพของผู้ป่วย