สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

มะเร็งลำไส้ตรง

ข้อมูล ณ วันที่ 1 พ.ค. 2566

ความรู้ทั่วไป

       มะเร็งลำไส้ตรงเกิดจากการแบ่งตัวผิดปกติของเซลล์บริเวณลำไส้ตรง มักทำให้มีการถ่ายปนเลือด หรือขับถ่ายผิดปกติไปจากเดิม โดยความเสี่ยงของการเกิดโรค ได้แก่ ประวัติโรคมะเร็งในครอบครัว การสูบบุหรี่ โรคลำไส้อับเสบเรื้อรัง


หลักการการรักษา

       การรักษามะเร็งลำไส้ตรงมักต้องใช้การรักษาหลายวิธีควบคู่กัน ทั้งการผ่าตัด การให้ยาเคมีบำบัด และการฉายรังสี โดยแพทย์จะเลือกการรักษาจากระยะของโรคและสภาพร่างกายของผู้ป่วย โดยทั่วไปหากเป็นหากก้อนมีขนาดเล็ก อาจรักษาโดยการผ่าตัดอย่างเดียว แต่หากก็มีขนาดใหญ่หรือทะลุออกนอกผนังลำไส้ตรง อาจมีการฉายรังสีร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัดเพื่อลดขนาดก้อนและลดโอกาสกลับมาเป็นซ้ำเฉพาะที่ก่อนการผ่าตัด หลังจากนั้นแพทย์อาจพิจารณาให้ยาเคมีบำบัดต่อ แต่หากโรคมีการแพร่กระจายจะมีการให้ยาเป็นหลัก และพิจารณาผ่าตัดหากสามารถทำได้


การฉายรังสี

การฉายรังสีเป็นการให้เอกซเรย์พลังงานสูงเพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง การฉายรังสีในมะเร็งลำไส้ตรงมีบทบาทหลักในกรณีดังต่อไปนี้


1. การฉายรังสีก่อนการผ่าตัด เพื่อลดขนาดก้อนและลดการกลับมาเป็นซ้ำบริเวณไส้ตรงและต่อมน้ำเหลืองข้างเคียง
2.  การฉายรังสีหลังการผ่าตัด เพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำเฉพาที่ในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงจากผลชิ้นเนื้อ
3.  การฉายเฉพาะจุดเพื่อทุเลาอาการ ในผู้ป่วยระยะแพร่กระจาย


ขั้นตอนการฉายรังสีดังต่อไปนี้

1.  การเตรียมตัวก่อนจำลองฉายรังสี
a. กรณีที่มีการฉีดสารทึบรังสี ผู้ป่วยต้องงดน้ำงดอาหารอย่างน้อย 4 ชั่วโมงก่อนการจำลองฉายรังสี
b. กรณีที่แพทย์ให้กลั้นปัสสาวะ ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการปัสสาวะก่อนมาจำลองฉายรังสีประมาณ 3-4 ชั่วโมง ข้อดีของการกลั้นปัสสาวะคือกระเพาะปัสสาวะที่โป่งออกจะดันลำไส้ส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องออกจากบริเวณที่ฉายรังสี ช่วยลดผลข้างเคียงลดลง
2.  การจำลองการฉายรังสี ผู้ป่วยจะได้รับการจัดท่าทางเสมือนวันฉายรังสีจริง หลังจากนั้นจะทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ แพทย์จะกำหนดจุดในการฉายรังสี และขีดเส้นบนตัวผู้ป่วย ซึ่งเส้นดังกล่าวใช้เพื่อเทียบตำแหน่งกับวันฉายจริง ดังนั้นจึงมีความสำคัญที่ผู้ป่วยต้องดูและไม่ให้เส้นเลือนหายไปก่อนวันเริ่มฉายรังสี ผู้ป่วยบางรายอาจมีการทำเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเพิ่มเติมเพื่อนำภาพดังกล่าวมาใช้วางแผนการรักษาร่วมกับภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หลังจากนั้นแพทย์จะนำภาพทั้งหมดไปใช้ในการวาดตำแหน่งของก้อนและอวัยวะข้างเคียง หลังจากนั้นนักฟิสิกส์จะคำนวณปริมาณรังสี เพื่อให้ก้อนมะเร็งได้รับปริมาณรังสีตามต้องการ และหลีกเลี่ยงรังสีไม่ให้โดนอวัยวะข้างเคียงอื่น ๆ
3. การฉายรังสี จำนวนครั้งของการฉายรังสีขึ้นกับสภาพร่ายกายผู้ป่วยและระยะของโรค โดยทั่วไปการฉายก่อนและหลัง่ผ่าตัดจะ 25-31ครั้ง โดยฉาย 5 ครั้งต่อสัปดาห์ ครั้งละประมาณ 15 นาที แต่อาจลดลงเหลือ 1-10 ครั้งในกรณีที่มะเร็งมีการแพร่กระจายหลายจุด หรือผู้ป่วยติดเตียง

ผลข้างเคียงจากการฉายรังสี

       ผลที่เกิดขึ้นแตกต่างกันไปในแต่ละราย ขึ้นอยู่กับปริมาณรังสี หรือการรักษาอื่นร่วมด้วย ซึ่งผลข้างเคียงที่อาจเกิดได้ ได้แก่ ปัสสาวะแสบขัด ท้องเสีย อ่อนเพลีย ในระยะยาวอาจมีถ่ายหรือปัสสาวะมีเลือดปน เกิดผังผืดในอุ้งเชิงกราน ทั้งนี้ผลข้างเคียงที่รุนแรงมีโอกาสเกิดไม่มากนักและมักเป็นเพียงชั่วคราว


การตรวจติดตามระหว่างฉายรังสี

ระหว่างฉายรังสีจะมีการตรวจสัปดาห์ละครั้งเพื่อประเมินว่าผู้ป่วยได้รับรังสีตำแหน่งทีต้องการหรือไม่และประเมินผลข้างเคียงจากการฉายรังสี


การดูแลตนเองระหว่างฉายรังสี

       การดูแลตัวเองถือเป็นสิ่งสำคัญในการฉายรังสี ผู้ป่วยควรเลือกรับประทานอาหารให้เพียงพอครบทั้ง 5 หมู่ โดยเน้นอาหารที่มีโปรตีนสูง เลือกอาหารที่สะอาดและปรุงสุกเพื่อป้องกันการติดเชื้อในกรณีที่ได้ยาเคมีบำบัด พักผ่อนให้เพียงพอ ผู้ที่ต้องกลั้นปัสสาวะก่อนฉายรังสีควรดื่มน้ำให้ระหว่างฉายรังสีรู้สึกปวดปัสสาวะใกล้เคียงกับวันจำลองฉายรังสีให้มากที่สุด