สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ

ข้อมูล ณ วันที่ 1 พ.ค. 2566

ความรู้ทั่วไป

       มะเร็งกระพาะปัสสาวะเป็นมะเร็งที่พบ่อยในผู้ที่มีอายุมากกว่า 70 ปีและพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง การสูบบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงของโรค โดยระยะของโรคแบ่งเป็นระยะที่ยังไม่มีการลุกลามไปยังชั้นกล้ามเนื้อซึ่งมีอัตราการรอดชีวิตสูงมาก และกรณีที่เซลล์มะเร็งมีการลุกลามไปยังชั้นกล้ามเนื้อซึ่งจะมีโอกาสกระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกายมากกว่า แต่อย่างไรก็ตามผู้ป่วยในกลุ่มนี้ยังสามารถรักษาให้หายขาดได้


หลักการการรักษา

       การรักษาประกอบด้วยหลายวิธี ขึ้นอยู่กับระยะของโรคและสภาพของผู้ป่วย โดยทั่วไปผู้ป่วยในระยะที่ยังไม่มีการลุกลามไปยังชั้นกล้ามเนื้อ การรักษาหลักคือการส่องกล้องผ่านทางท่อปัสสาวะไปตัดเนื้องอกออก และอาจมีการให้ยาเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็งเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะ ในกรณีที่มะเร็งลุกลามเข้าสู่ชั้นกล้ามเนื้อ แพทย์อาจต้องพิจารณาผ่าตัดกระเพราะปัสสาวะออกทั้งหมด หรือฉายรังสีร่วมกับให้ยาเคมีบำบัด ส่วนการให้เคมีบำบัดเป็นการรักษาหลักสำหรับมะเร็งมีการลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ส่วนการฉายรังสีจะมีบทบาทในการช่วยทุเลาอาการในโรคระยะดังกล่าว

 

 

การฉายรังสี

การฉายรังสีเป็นการให้เอกซเรย์พลังงานสูงเพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง โดยมีขั้นตอนดังต่อไปนี้

1.  การเตรียมตัวก่อนจำลองฉายรังสี
2.  กรณีที่มีการฉีดสารทึบรังสี ผู้ป่วยต้องงดน้ำงดอาหารอย่างน้อย 4 ชั่วโมงก่อนการจำลองฉายรังสี
3.  กรณีที่แพทย์ให้กลั้นปัสสาวะ ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการปัสสาวะก่อนมาจำลองฉายรังสีประมาณ 3-4 ชั่วโมง โดยเฉพาะผู้ที่ต้องงดน้ำงดอาหาร
4.  การจำลองการฉายรังสี ผู้ป่วยจะได้รับการจัดท่าทางเสมือนวันฉายรังสีจริง หลังจากนั้นจะทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ แพทย์จะกำหนดจุดในการฉายรังสี และขีดเส้นบนตัวผู้ป่วย ซึ่งเส้นดังกล่าวใช้เพื่อเทียบตำแหน่งกับวันฉายจริง ดังนั้นจึงมีความสำคัญที่ผู้ป่วยต้องดูและไม่ให้เส้นเลือนหายไปก่อนวันเริ่มฉายรังสี ระยะเวลาที่ใช้ในการฉายแสงประมาณ 30 นาที
5.  การฉายรังสี จำนวนครั้งของการฉายรังสีขึ้นกับสภาพร่ายกายผู้ป่วยและระยะของโรค โดยทั่วไปจะฉาย 25-32 ครั้ง โดยฉาย 5 ครั้งต่อสัปดาห์ แต่อาจลดลงเหลือ 1-10 ครั้งในกรณีที่มะเร็งมีการแพร่กระจายหลายจุด หรือผู้ป่วยติดเตียง ระยะเวลาในการฉายแสงต่อครั้งประมาณ 10-15 นาที

ผลข้างเคียงจากการฉายรังสี

       ผลที่เกิดขึ้นแตกต่างกันไปในแต่ละราย ขึ้นอยู่กับปริมาณรังสี หรือการรักษาอื่นร่วมด้วย ซึ่งผลข้างเคียงที่อาจเกิดได้ ได้แก่ ปัสสาวะแสบขัด ท้องเสีย อ่อนเพลีย ผู้ป่วยบางรายอาจมีปัญหาทางด้านเพศสัมพันธ์ เช่น ผู้ป่วยหญิงอาจมีช่องคลอดแห้งลง หรือในผู้ป่วยชายอาจมีปัญหาเรื่องการแข็งตัวของอวัยวะเพศ แต่มักเป็นผลข้างเคียงแบบชั่วคราว


การตรวจติดตามระหว่างฉายรังสี

ระหว่างฉายรังสีจะมีการตรวจสัปดาห์ละครั้งเพื่อประเมินการตอบสนองและผลข้างเคียงจากการฉายรังสี