สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma)

ข้อมูล ณ วันที่ 1 พ.ค. 2566

เกี่ยวกับมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

       “ตรวจพบมะเร็งที่ต่อมน้ำเหลือง” อาจจะเป็นมะเร็งของต่อมและท่อน้ำเหลือง ซึ่งผลการรักษาดี มีอัตราการหายขาดสูง หรืออาจเป็นมะเร็งที่อื่นแพร่กระจายมาต่อมน้ำเหลือง จึงจำเป็นต้องผ่าตัดตรวจต่อมน้ำเหลืองว่าเป็นเซลล์มะเร็งชนิดใด ร่วมกับการเอกซเรย์เพื่อหารอยโรคมะเร็งทั้งหมด เช่น เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เอกซเรย์คลื่นแม่เหล็ก การตรวจเพ็ทสแกน


ชนิดของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองและผลการรักษา

       สำหรับมะเร็งต่อมน้ำเหลืองนั้นยังแบ่งได้หลายชนิดตามลักษณะของเซลล์มะเร็ง เช่น Hodgkin, follicular, marginal zone, small cell, diffuse large B-cell, mantle cell, T-cell, NK-T cell, Burkitt เป็นต้น ซึ่งมะเร็งต่อมน้ำเหลืองแต่ละชนิดและแต่ละระยะโรคก็มีความรุนแรงแตกต่างกัน ส่งผลให้ได้รับการรักษาที่แตกต่างกัน แต่อย่างไรก็ตาม มะเร็งต่อมน้ำเหลืองเป็นโรคที่ตอบสนองดีต่อการรักษา แม้ว่าจะเป็นระยะที่สี่ก็สามารถหายขาดได้มากเมื่อเทียบกับโรคมะเร็งชนิดอื่นๆ ดังข้อมูลจากสถาบันมะเร็งอเมริกาในปีพ.ศ. 2553-2559 พบว่าอัตราการหายขาดจากโรคมะเร็งที่ 5 ปี ของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด Hodgkin คือ 76-94 % และมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดอื่นๆ คือ 63-83 % ดังนั้นอย่าตื่นตระหนกเมื่อทราบว่าตนเองเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองระยะที่สามหรือสี่


การรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลือง

       แพทย์อายุรกรรมโลหิตวิทยาจะตัดสินใจร่วมกับแพทย์รังสีรักษา เพื่อเลือกแนวทางการรักษาที่เหมาะสมกับชนิดเซลล์มะเร็งต่อมน้ำเหลืองและสภาพความแข็งแรงของคนไข้ ซึ่งประกอบไปด้วย เคมีบำบัด ยามุ่งเป้ามะเร็ง ฉายรังสี การปลูกถ่ายไขกระดูก ดังนั้นผู้ป่วยบางรายอาจได้รับการรักษาครบทั้งสี่อย่าง ผู้ป่วยบางรายอาจได้รับการรักษาเพียงบางอย่าง


การฉายรังสี

       แพทย์รังสีรักษาจะกำหนดจุดรอยโรคมะเร็งของผู้ป่วยจากภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และจำลองทิศทางการฉายรังสีในคอมพิวเตอร์ให้เสมือนวันฉายรังสีจริง หลังจากนั้นนักฟิสิกส์การแพทย์จะทำการตรวจสอบคุณภาพ ขณะก่อนฉายรังสีแต่ละครั้งนักรังสีเทคนิคจะจัดท่าผู้ป่วยและตรวจสอบตำแหน่งโดยอาศัยภาพจากหัวเครื่องฉายรังสีเพื่อให้มั่นใจได้ว่าถูกต้องและแม่นยำ ก่อนที่เครื่องฉายรังสีจะปล่อยลำเอกซเรย์พลังงานสูงไปทำลายรอยโรคที่แพทย์ได้กำหนดไว้ “โดยการรักษาแต่ละครั้งผู้ป่วยจะไม่รู้สึกเจ็บปวดใดๆ”
       แพทย์รังสีรักษาจะตัดสินใจว่าฉายรังสีมะเร็งต่อมน้ำเหลืองด้วยปริมาณรังสีเท่าใดและแบ่งฉายกี่ครั้ง โดยปกติจะฉายรังสี 17-25 ครั้ง แต่บางกรณีอาจฉายรังสีปริมาณน้อยลงหรือจำนวนครั้งลดลงเหลือ 1-15 ครั้ง เช่น ผู้ป่วยไม่สะดวกฉายรังสีหลายวัน ผู้ป่วยสภาพนอนติดเตียง มะเร็งกดทับไขกระดูกทำให้อัมพาต มะเร็งกระจายหลายจุดและไม่สามารถควบคุมได้ด้วยเคมีบำบัด เป็นต้น
       เทคนิคการฉายรังสีมีให้เลือกหลากหลาย ขึ้นกับความยากง่ายของตำแหน่งรอยโรคมะเร็ง และความพร้อมของเครื่องมือในแต่ละโรงพยาบาล เทคนิคในปัจจุบันนี้ประกอบไปด้วย การฉายรังสีสองมิติ การฉายรังสีสามมิติ การฉายรังสีแบบปรับความเข้ม ซึ่งเพียงพอสำหรับการรักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ส่วนการรักษาด้วยเทคนิคพิเศษอื่นๆจะมีประโยชน์น้อย เช่น การฉายรังสีตามจังหวะการหายใจ การกลั้นหายใจขณะฉายรังสี รังสีศัลยกรรม การฉายรังสีด้วยอนุภาคโปรตอน


ผลข้างเคียงของการฉายรังสี

       ระหว่างคอร์สการฉายรังสีผู้ป่วยอาจพบผลข้างเคียงในบริเวณที่โดนรังสี เช่น ผมร่วง มึนศีรษะ เคืองตา น้ำตาไหล แผลในจมูก เจ็บปาก เจ็บคอ น้ำลายเหนียว ไม่รับรู้รสชาติอาหาร ผิวหนังแห้งแดงลอก คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะแสบขัด เม็ดเลือดขาวต่ำ เกล็ดเลือดต่ำ เป็นต้น ซึ่งอาการดังกล่าวจะได้รับการดูแลจากแพทย์รังสีรักษาเพื่อบรรเทาอาการต่างๆ ให้ผู้ป่วยสามารถรับการรักษาจนสิ้นสุดการรักษาได้ หลังจากนั้นอาการจะค่อยๆเริ่มดีขึ้นใน 1-2 สัปดาห์ จนเป็นปกติในหลายเดือน
       ผลข้างเคียงบางอย่างอาจพบได้ภายหลังจากฉายรังสีครบหลายเดือนหลายปี ซึ่งพบได้น้อยในมะเร็งต่อมน้ำเหลือง เพราะปริมาณรังสีต่ำกว่ามะเร็งชนิดอื่นๆ และเทคนิคการฉายรังสีที่ดีขึ้น โดยแพทย์ผู้รักษาจะนัดตรวจติดตามอาการเป็นระยะ