สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

การแพร่กระจายของมะเร็งไปที่สมอง

ข้อมูล ณ วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2022

ความรู้ทั่วไป

       ภาวะมะเร็งแพร่กระจายไปที่สมอง หรือ brain metastasis เป็นภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทของมะเร็งที่พบได้มากที่สุด และเป็นสาเหตุของการเกิดทุพพลภาพและการเสียชีวิตของผู้ป่วย ในอดีตการพบมะเร็งแพร่กระจายไปที่สมองจะบ่งบอกถึงพยากรณ์โรคที่ไม่ดี ผู้ป่วยมักอยู่ได้ประมาณ 6 เดือน แต่ปัจจุบัน การตรวจและรักษาภาวะมะเร็งแพร่กระจายไปที่สมองพัฒนาขึ้นมาก ทั้งเทคนิควิธีการผ่าตัด เทคนิคการฉายรังสี รวมทั้งยาต้านมะเร็งที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นยาเคมีบำบัด ยามุ่งเป้า และยากลุ่มภูมิคุ้มกันบำบัด ทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตยาวนานขึ้น และผลข้างเคียงจากการรักษาน้อยลง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 
       ผู้ป่วยที่มีภาวะแพร่กระจายของโรคมะเร็งมาที่สมอง มักมีอาการปวดศีรษะ อาเจียน ชัก อ่อนแรงแขนขาซีกใดซีกหนึ่ง เดินเซ หรือบางรายอาจไม่มีอาการใดๆ แต่ตรวจพบจากการตรวจเอกซเรย์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตำแหน่งและขนาดของก้อนมะเร็งในสมอง มะเร็งต้นกำเนิดที่พบมีการแพร่กระจายมาที่สมองบ่อยที่สุด ได้แก่ มะเร็งปอด ตามด้วยมะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ การตรวจวินิจฉัยเริ่มจากการตรวจด้วยภาพเอ็มอาร์ไอ (MRI) ที่สมองเพื่อดูขนาดและตำแหน่งของตัวก้อน รวมทั้งประเมินระยะและการควบคุมโรคของมะเร็งต้นกำเนิดด้วย 


หลักการรักษา

       การรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะแพร่กระจายของโรคมะเร็งมาที่สมองขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็งต้นกำเนิด จำนวน ขนาดและตำแหน่งของก้อนมะเร็งในสมอง รวมถึงอาการและสภาพร่างกายของผู้ป่วย ดังนั้น การรักษาจึงมีความแตกต่างกัน ซึ่งต้องอาศัยทีมสหสาขาวิชาชีพ (multidisciplinary team) ประกอบด้วย ศัลยแพทย์ทางระบบประสาท แพทย์รังสีรักษา และอายุรแพทย์โรคมะเร็ง 

       การรักษาด้วยรังสีในการแพร่กระจายของมะเร็งไปที่สมอง มีบทบาททั้งเป็นการรักษาหลัก และเป็นการรักษาเสริมหลังการผ่าตัด รวมถึงการฉายรังสีในกรณีที่มีการกลับเป็นซ้ำ โดยเทคนิคการฉายรังสีสามารถทำได้หลายแบบ ได้แก่

  • การฉายรังสีด้วยเทคนิครังสีศัลยกรรมหรือรังสีร่วมพิกัด (stereotactic radiosurgery, SRS, or stereotactic radiotherapy, SRT) เป็นเทคนิคที่สามารถกำหนดรังสีปริมาณสูงไปที่ตำแหน่งของก้อนมะเร็งโดยลดปริมาณรังสีไปยังเนื้อสมองปกติรอบๆได้ ทำให้ผู้ป่วยมีผลข้างเคียงทางสมองลดลง แต่มีโอกาสการกลับเป็นซ้ำของโรคในสมองส่วนอื่นที่ไม่ได้รับรังสีได้ ดังนั้นผู้ป่วยจำเป็นต้องตรวจภาพ MRI ทุก 2-3 เดือน เพื่อเฝ้าระวังการกลับเป็นซ้ำของโรค
  • การฉายรังสีทั้งสมอง (whole brain radiotherapy, WBRT) ใช้ในผู้ป่วยที่มีการแพร่กระจายของมะเร็งที่สมองจำนวนมาก หรือมีการแพร่กระจายที่เยื่อหุ้มสมองร่วมด้วย เนื้อสมองทั้งหมดจะได้รับรังสีดังนั้นผู้ป่วยจะมีผลข้างเคียงทางสมองมากกว่าการฉายรังสีด้วยเทคนิค SRS, SRT เช่น ผมร่วง หลงลืมง่ายโดยมักเป็นความจำระยะสั้น ในผู้ป่วยบางราย แพทย์อาจพิจารณาการฉายรังสีทั้งสมองแต่ลดรังสีที่ไปยังฮิปโปแคมปัส (hippocampal avoidance) หรือให้รับประทานยา memantine เพื่อป้องกันความเสียหายของเซลล์สมองอื่นๆร่วมด้วย

ขั้นตอนการรักษาด้วยรังสี
ขั้นตอนการรักษาด้วยรังสี ประกอบด้วย
1. การจำลองการฉายรังสี
  • ก่อนวันจำลองการฉายรังสี เจ้าหน้าที่จะซักประวัติ เช่น การแพ้ยาและอาหารทะเล และได้รับใบเจาะเลือดเพื่อตรวจการทำงานไต รวมทั้งคำแนะนำให้งดน้ำงดอาหาร ในกรณีที่จะมีการฉีดสารทึบรังสีในวันที่มาจำลองการฉายรังสี
  • ในวันที่นัดมาจำลองการฉายรังสี เจ้าหน้าที่จะให้ผู้ป่วยเปลี่ยนชุด และเจาะเลือดหรือใส่สายน้ำเกลือสำหรับฉีดสารทึบรังสี ทำหน้ากากยึดตรึงเพื่อให้ศีรษะไม่ขยับในระหว่างการฉายรังสีทุกวัน จากนั้น นักรังสีการแพทย์จะทำการสแกนด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เครื่อง MRI และขีดเส้นบนหน้ากากหรือลำตัวของผู้ป่วย

  • หลังการจำลองการฉายรังสี จะเริ่มฉายรังสีภายในไม่เกิน 1 สัปดาห์ โดยฉายรังสีจำนวน 1-5 ครั้ง สำหรับเทคนิค SRS, SRT วันละ 1 ครั้งติดต่อกัน หรือวันเว้นวัน และจำนวน 5-10 ครั้ง สำหรับเทคนิค WBRT วันละ 1 ครั้ง ในวันจันทร์ถึงวันศุกร์ 
  • การฉายรังสีแต่ละครั้ง ใช้เวลาประมาณ 10-20 นาที ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกอะไร ไม่เจ็บปวด เพียงนอนนิ่งๆ ในท่าเดิมเหมือนวันที่มาจำลองการฉายรังสี 
  • ในการการฉายรังสีแต่ละครั้ง นักรังสีการแพทย์จะตรวจสอบตำแหน่งของผู้ป่วยให้ตรงกับที่แพทย์ วางแผนไว้ แล้วจึงฉายรังสี 

 

ผลข้างเคียง

       ในระหว่างการฉายรังสี แพทย์อาจพิจารณาให้ยาสเตียรอยด์ในผู้ป่วยที่มีอาการจากภาวะสมองบวม เช่น ปวดศีรษะ อาเจียน อ่อนแรง โดยทั่วไป ผู้ป่วยสามารถเดินทางกลับบ้านได้ อาจมีอาการอ่อนเพลียเล็กน้อย แต่มักใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่หากผู้ป่วยมีอาการจากภาวะสมองบวมมาก จำเป็นต้องให้ยาสเตียรอยด์แบบฉีดทางเส้นเลือด หรือในกรณีที่มีผลข้างเคียงจากการรักษา แพทย์อาจพิจารณาให้นอนโรงพยาบาล ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรได้รับการฉายรังสีอย่างต่อเนื่องและครบถ้วนตามปริมาณที่แพทย์ประเมินไว้ ไม่ควรหยุดกลางคันหากไม่จำเป็น
      ภายหลังการฉายรังสี 3 เดือนขึ้นไป อาจมีภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทแบบไม่รุนแรง ทำให้ง่วงเหงาหาวนอน หลงลืม สำหรับการฉายรังสีเทคนิค SRS, SRT ซึ่งเป็นการใช้รังสีปริมาณสูง บางรายอาจมีภาวะเนื้อสมองตายจากรังสี (radionecrosis) ซึ่งมักไม่มีอาการแต่เห็นจากภาพ MRI แต่หากมีภาวะสมองโดยรอบบวม ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดศีรษะหรืออ่อนแรง ขึ้นกับตำแหน่งที่เกิด อย่างไรก็ดีพบผลข้างเคียงรุนแรงเหล่านี้ไม่บ่อย

การดูแลตนเองขณะฉายรังสี

       ในระหว่างการฉายรังสี ผู้ป่วยควรได้รับอาหารอย่างเหมาะสมและพักผ่อนให้เพียงพอ เลิกการดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ตลอดชีวิตเพื่อผลการรักษาที่ดีและป้องกันไม่ให้เกิดมะเร็งอื่นๆตามมา ภายหลังการฉายรังสีครบประมาณ 2-4 สัปดาห์ ร่างกายจะค่อยๆฟื้นฟูกลับสู่สภาวะปกติ สามารถออกกำลังกายเบาๆได้ 

การตรวจติดตาม

       แพทย์จะนัดตรวจติดตามการรักษาโรคมะเร็งต้นกำเนิดและภาวะมะเร็งแพร่กระจายมาที่สมองเป็นระยะๆ หลังการฉายรังสีเสร็จประมาณ 1 เดือน แพทย์จะนัดมาดูอาการผลข้างเคียงหลังการฉายรังสี จากนั้นมักนัดตรวจทุก 3-4 เดือน เพื่อติดตามอาการ และดูว่ามีการกำเริบของมะเร็งหรือไม่ รวมทั้งเพื่อเฝ้าระวังผลข้างเคียงระยะยาว การตรวจด้วยเครื่อง MRI ที่สมองมักทำเมื่อมีอาการสงสัยว่ามีการกำเริบซ้ำหรือมีผลข้างเคียงจากการรักษา ยกเว้นในรายที่ฉายรังสีด้วยเทคนิค SRS, SRT มักพิจารณาทำ MRI ทุก 2-3 เดือนเพื่อเฝ้าระวังการกลับเป็นซ้ำของโรค และให้การรักษาได้ทันท่วงที