สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

เนื้องอกที่ไม่ใช่มะเร็ง

ข้อมูล ณ วันที่ 1 พ.ค. 2566

ความรู้ทั่วไป

       บทบาทของรังสีรักษาไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงการรักษาโรคมะเร็งเท่านั้น มีหลายโรคที่การฉายรังสีมีบทบาทในการรักษา หรือสามารถช่วยบรรเทาอาการได้ โรคที่ไม่ใช่มะเร็งแม้ไม่ได้ก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิต แต่อาจมีขนาดโตเร็วจนสามารถกดเบียดอวัยวะข้างเคียงและเกิดภาวะทุพพลภาพ เกิดอาการปวด หรืออาจส่งผลต่อความสวยงาม ตัวอย่างของโรคที่ไม่ใช่มะเร็งเหล่านี้ได้แก่

1. เนื้องอกของเยื่อหุ้มสมอง (meningioma)

       สมองจะถูกห่อหุ้มด้วยเยื่อหุ้มสมอง ซึ่งเยื่อหุ้มสมองอาจเกิดความผิดปกติและเจริญเป็นเนื้องอกขึ้นได้ โดยมักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากเนื้องอกเยื่อหุ้มสมองอาจเกิดขึ้นที่ตำแหน่งใดก็ได้ ดังนั้นอาการแสดงขึ้นกับตำแหน่งของก้อนเนื้องอกนั้นว่ามีผลไปรบกวนต่อสมองส่วนใด เช่น อาจมีอาการปวดหัวอาเจียน อาการชัก ตามัว เดินเซ หรืออาการอื่นๆ

การรักษาหลักของโรคนี้คือ การผ่าตัดเนื้องอกออกทั้งหมด การฉายรังสีมีบทบาทในกรณีที่ไม่สามารถผ่าตัดได้หมด มีข้อห้ามในการรักษาด้วยการผ่าตัด หรือเป็นเนื้องอกชนิดที่มีโอกาสกลับเป็นซ้ำได้สูง โดยจะทำการฉายแสงทั้งหมดประมาณ 27-30 ครั้ง รายละเอียดเกี่ยวกับการฉายรังสีและผลข้างเคียงคล้ายคลึงกับผู้ป่วยที่ได้รับการฉายรังสีสำหรับมะเร็งและเนื้องอกในสมองและกะโหลกศีรษะ แนะนำให้อ่านในหัวข้อ “มะเร็งและเนื้องอกในสมองและกะโหลกศีรษะ” เพิ่มเติม

2. ภาวะตาโปนของฮอร์โมนไทรอยด์ทำงานมากเกินปกติ ( Graves Ophthalmopathy)

       เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ทำให้เกิดการอักเสบและเกิดการบวมของกล้ามเนื้อรอบดวงตา ทำให้เกิดอาการตาโปน พบได้ประมาณ 25-50% ของผู้ป่วยที่เป็นโรค Graves’ disease อาการแสดงอาจมีอาการหนังตาบวม ตาโปนออกมามากจนเห็นตาขาว มีอาการตาแดง น้ำตาไหลง่าย หลับตาไม่สนิท หรือมีอาการปวดตา กลัวแสง หากเป็นมากอาจมีอาการตามัว เห็นภาพซ้อนได้ การรักษาที่เหมาะสมเป็นการรักษาร่วมกันระหว่างจักษุแพทย์และอายุรแพทย์ต่อมไร้ท่อ เพื่อควบคุมภาวะไทรอยด์เป็นพิษให้ดีก่อนจะเริ่มการรักษาทางตา รวมถึงงดสูบบุหรี่ เนื่องจากการสูบบุหรี่ส่งผลให้อาการตาโปนแย่ลงได้

การรักษาอาการตาโปน รักษาตามความรุนแรงของโรคเป็นหลัก การฉายรังสีมีบทบาทในกลุ่มผู้ป่วยที่มีภาวะตาโปนระดับปานกลางถึงรุนแรง โดยอาจใช้รักษาร่วมกับการให้ยาสเตียรอยด์ เริ่มจากการรักษาด้วยยาสเตียรอยด์ทางหลอดเลือดดำ หรือรูปแบบรับประทานก่อน จากนั้นจึงตามด้วยการฉายรังสี หรือใช้รักษาในผู้ป่วยที่มีข้อห้ามในการให้สเตียรอยด์ได้เช่นเดียวกัน โดยพบว่าการฉายรังสีสามารถช่วยลดอาการทางตาได้ โดยระยะเวลาของการฉายรังสีในภาวะนี้ใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ หรือฉายรังสีทั้งหมด 10 ครั้ง

3. แผลเป็นคีลอยด์ (Keloid)

       แผลเป็นคีลอยด์ คือแผลเป็นชนิดหนึ่งที่มีลักษณะนูนและขยายใหญ่เกินขอบเขตของแผลเดิม โดยอาจเกิดขึ้นทันทีที่แผลหายหรือหลังจากที่แผลหายดีซักระยะหนึ่งแล้ว แม้จะไม่ก่อให้เกิดอันตราย แต่อาจส่งผลต่อความสวยงาม หรือบางคนอาจมีอาการเจ็บ คัน ระคายเคืองได้ การรักษาคีลอยด์มีหลายวิธี เช่น การฉีดคอร์ติโซนสเตียรอยด์ การใช้เลเซอร์ และการผ่าตัด อย่างไรก็ตามวิธีผ่าตัดอาจกระตุ้นให้เกิดแผลเป็นนูนกลับขึ้นมาเหมือนเดิมหรือใหญ่กว่าเดิมได้ ซึ่งมีโอกาสกลับเป็นซ้ำได้มากกว่า 50% แพทย์จึงมักต้องใช้วิธีรักษาอื่นร่วมด้วยตามหลังจากผ่าตัด เช่น การใช้แผ่นแปะกดบนแผล การฉีดสเตียรอยด์
การฉายรังสี การฉายรังสีหลังการผ่าตัดนั้นจะเป็นการฉายรังสีชนิดตื้น และฉายเฉพาะบริเวณรอบแผล(scar) ทั้งหมดประมาณ 2-5 ครั้ง

4. โรคหลอดเลือดสมองเอวีเอ็ม หรือ โรคหลอดเลือดสมองผิดปกติ (Cerebral arteriovenous malformation: AVM)

       คือความผิดปกติที่เกิดจากการติดต่อของหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำในสมอง ส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการ พบคนที่แสดงอาการได้ประมาณ 1 ใน 100,000 คน แสดงอาการได้ตั้งแต่วัยเด็กถึงสูงอายุ ส่วนใหญ่แสดงอาการก่อนอายุ 40 ปี อาการแสดงทางคลินิกที่พบบ่อยเกิดจากการที่มีเลือดออกในสมอง รองลงมาคืออาการชัก และอาจพบอาการปวดศีรษะได้ประมาณร้อยละ 10โดยพบว่าโรคหลอดเลือดสมอง AVM นี้หากไม่ได้รับการรักษา มีโอกาสเกิดเลือดออกในสมองได้ประมาณร้อยละ 2-4 ต่อปีซึ่งอาจมีอัตราการเสียชีวิตตามมาได้สูงถึงร้อยละ 10

นอกจากการรักษาโดยการผ่าตัด(microsurgery) และการใช้วัสดุอุดเส้นเลือด (embolization) การฉายรังสีศัลยกรรม (Stereotactic radiosurgery: SRS) ถือเป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษา สามารถรักษาให้หายขาดได้สูงถึงร้อยละ 70-80 มีผลข้างเคียงจากการรักษาค่อนข้างต่ำ เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มี AVM ขนาดเล็กและอยู่ในตำแหน่งที่การผ่าตัดเข้าถึงลำบาก ข้อด้อยของวิธีการรักษานี้คือมีระยะเวลารอหลังการฉายรังสีโดยเฉลี่ยประมาณ 3ปี กว่าที่ AVMจะมีการอุดตันอย่างสมบูรณ์ ซึ่งทำให้ในช่วงเวลานั้นมีโอกาสเกิดโอกาสเลือดออกในสมองได้ การฉายรังสีศัลยกรรมเป็นเทคนิคการฉายรังสีปริมาณสูงเพียงครั้งเดียว แต่บางครั้งอาจมีการฉายรังสีมากกว่า 1 ครั้งเพื่อลดผลข้างเคียง

โรคที่ไม่ใช่มะเร็งที่ได้กล่าวมาข้างต้นนี้เป็นแค่ส่วนหนึ่งที่ทางรังสีรักษามีบทบาท ยังมีโรคอื่นอีกหลายโรคที่ยังไม่ได้กล่าวถึงได้บทความนี้ เช่น ภาวะกระดูกงอกผิดที่ (Heterotopic ossification), เนื้องอก desmoid,ภาวะม้ามโต (splenomegaly),ภาวะหัวใจห้องล่างเต้นเร็วผิดจังหวะ(ventricular tachycardia), เนื้องอก schwannomaและโรคอื่นๆ