สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

หลักการรักษาด้วยรังสี

รังสีรักษาคืออะไร

รังสีรักษาคือ การรักษาโรคมะเร็ง (Malignant Tumor) และรอยโรคที่ไม่ใช่โรคมะเร็ง (Benign tumor) ด้วยคลื่นแม่เหล็ก ไฟฟ้าหรือ อนุภาคซึ่งเป็นรังสี โดยอาศัยคุณลักษณะของรังสีแต่ละชนิดในการทำลายเซลล์

วิธีการรักษาแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

1. การใช้รังสีรักษาระยะไกล (Teletherapy) หมายถึง การรักษาที่มีต้นกำเนิดรังสีห่างจากบริเวณที่จะรักษา เช่น เครื่องฉายรังสีโคบอลต์ 60 และเครื่องเร่งอนุภาค เป็นต้น

2. การใช้รังสีรักษาระยะใกล้ (Brachytherapy) หมายถึง การรักษาที่มีต้นกำเนิดรังสีอยู่ชิดหรือภายในบริเวณที่จะรักษา

เทคนิคการรักษาด้วยฉายรังสี

1. การฉายรังสีแบบ 2 มิติ (Conventional Radiotherapy) ในปัจจุบันมีการวางแผนการรักษาด้วยรังสี 2 มิติ โดยทั่วไป ส่วนใหญ่ ใช้การกำหนดขอบเขตการฉายรังสีจากกายวิภาคที่สามารถเห็นจากภาพเอ็กซเรย์หรือการตรวจร่างกายทั่วไป เช่น ตำแหน่งของกระดูกเป็นตัวกำหนดขอบเขตการฉายรังสี และใช้เครื่อง Simulator (เครื่องเอ็กซเรย์แบบ Fluoroscopy) ถ่ายภาพเอ็กซเรย์แล้วขีดเส้นขอบเขตการรักษา ต่อมามีการใช้เครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ถ่ายภาพ แต่การกำหนดขอบเขตการฉายรังสียังคงเป็นระนาบเดียวเท่านั้น ซึ่งลำรังสีของการ

ฉายรังสีแบบ 2 มิติ มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมหรือวงกลม ทำให้เนื้อเยื่อปกติในบริเวณใกล้เคียงกับรอยโรคได้รับรังสีไปด้วย การฉายรังสีแบบ 2 มิติ จึงมีข้อจำกัดในการกำหนดทิศทางการฉายรังสีและจำนวนลำรังสีได้ไม่มาก

2. การฉายรังสีแบบ 3 มิติ (Three dimension conformal Radiotherapy หรือ 3-DCRT) การฉายรังสีโดยการวางแผนการรักษาในระบบ 3 มิติ อาศัยการกำหนดขอบเขตการรักษาจากภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ โดยการกำหนดรูปร่างของลำรังสีให้มีรูปร่างและทิศทางของลำรังสีให้เหมาะสมกับรอยโรค โดยระบบสร้างภาพ 3 มิติ ทำให้การวางแผนการฉายรังสีมีความถูกต้องมากขึ้น ทำให้สามารถให้ปริมาณรังสีสูงเฉพาะบริเวณรอยโรค และสามารถเห็นการกระจายรังสีภายในตัวผู้ป่วยได้ ทำให้ลดปริมาณรังสีบริเวณเนื้อเยื่อปกติข้างเคียงได้มากขึ้น นำไปสู่การลดผลข้างเคียงจากการฉายรังสีทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

3. การฉายรังสีแบบปรับความเข้ม (Intensity Modulated Radiation Therapy) เป็นการพัฒนาการฉายรังสีจาก 3-DCRTในการวางแผนการรักษาและระบบการคำนวณปริมาณรังสี โดยกระจายของปริมาณรังสีจะมีรูปร่างคล้ายกับรอยโรคมากขึ้น ซึ่งอาศัยหลักการปรับความเข้มของลำรังสีตามความหนาบางของก้อนมะเร็งในแต่ละทิศทางการเข้าของลำรังสี เพื่อให้เกิดความเข้มของรังสีที่แตกต่างกัน ซึ่งในแต่ละลำรังสีจะแบ่งการกระจายรังสีออกเป็นช่อง เรียกว่า beamlet  การกำหนดความเข้มโดยการคำนวณจากเครื่องคอมพิวเตอร์วางแผนการรักษาด้วยวิธีการ Inverse Planning ซึ่งจะให้ความเข้มสูงบริเวณที่ก้อนมะเร็งหนาและความเข้มของรังสีจะลดลงบริเวณที่ก้อนมะเร็งบาง ทำให้ลำรังสีในแต่ละทิศทางมีความเข้มที่แตกต่างกัน เมื่อนำความเข้มของแต่ละทิศทางมาคำนวณปริมาณรังสีร่วมกันจะได้การกระจายรังสีที่ครอบคลุมเฉพาะก้อนมะเร็ง เทคนิคนี้จึงช่วยเพิ่มปริมาณรังสีให้แก่รอยโรคได้สูงขึ้นและเพิ่มผลการควบคุมโรคเฉพาะที่อุปการณ์สำคัญในการกำบังรังสีและกำหนดรูปร่าง เพื่อปรับความเข้มของลำรังสี คือ Multileaf Collimator (MLC) มีลักษณะเป็นซี่สามารถเคลื่อนที่เข้าออกในบริเวณลำรังสีได้ ทำให้สามารถสร้างรูปร่างของลำรังสีในรูปแบบต่าง ๆ ได้อย่างอิสระ ซึ่ง MLC จะถูกติดตั้งไว้ที่หัวเครื่องฉายรังสี จำนวนซี่ 80-120 ซี่

4. การฉายรังสีแบบหมุนรอบตัว (Dynamic Arc Radiation Therapy) การฉายรังสีที่กำหนดทิศทางการฉายรังสี โดยที่ลำรังสีเคลื่อนที่ หรือหมุนและมีการกำหนดรูปร่างลำรังสีตามรูปร่างของก้อนมะเร็งด้วย MLC ในแต่ละมุมที่หมุนรอบตัว โดยการคำนวณจากเครื่องคอมพิวเตอร์วางแผนการรักษา ซึ่งจะได้เส้นการกระจายรังสีออกมาดังรูป เทคนิคนี้เหมาะกับการที่ใช้กับก้อนมะเร็งที่รูปร่างค่อนข้างกลมและอยู่บริเวณกลางลำตัว

5. การฉายรังสีแบบ Volumetric Intensity Modulated Arc Therapy (VMAT) เป็นเทคนิคใหม่ล่าสุดของการฉายรังสี ซึ่งพัฒนามาจากเทคนิคการฉายรังสีแบบ IMRT กับ Dynamic Arc เป็นการฉายรังสีแบบปรับความเข้มของลำรังสีพร้อมกับการที่ลำรังสีเคลื่อนที่หรือหมุน เทคนิคนี้จึงมีความยุ่งยากและซับซ้อน อาศัยการคำนวณที่ยุ่งยาก โดยคอมพิวเตอร์วางแผนการรักษา ในการคำนวณปริมาณรังสี ซึ่งต้องอาศัยผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง เพื่อควบคุมและคำนวณปริมาณรังสีให้มีความถูกต้องและแม่นยำ ซึ่งเทคนิค นี้สามารถควบคุมปริมาณรังสีแก่รอยโรคตามรูปร่างของ ก้อนมะเร็งและช่วยลดปริมาณรังสีที่เนื้อเยื่อปกติรอบ ๆ ก้อนมะเร็ง ทำให้ผล ข้างเคียงจากการฉายรังสีลดลง