สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เริ่มเปิดให้บริการการรักษาโรคมะเร็งตั้งแต่ปี 2494 จนถึงปัจจุบัน มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายสาขา และอุปกรณ์ให้การรักษาด้านรังสีรักษาอันทันสมัยที่สุดในประเทศไทย

ด้วยงบประมาณมากกว่า 1,000 ล้านบาท นับว่าเราเป็นผู้นำในการรักษาโรคมะเร็งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถผลิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา นักฟิสิกส์การแพทย์ นักรังสีเทคนิค ตลอดจนเป็นสถานที่อบรมศึกษาดูงานของบุคลากรทางรังสีรักษาและโรคมะเร็ง ทั้งจากสถาบันอื่นๆ ในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่องและเป็นจำนวนมาก ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ปากีสถาน เนปาล จีน ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย บังคลาเทศ พม่า เวียดนาม และเกาหลีเหนือ โดยได้รับความร่วมมือจากทบวงการปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency : IAEA)

ด้านบริการ

 

 

             สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มีความมุ่งมั่นในการรักษามะเร็งด้วยวิธีการมาตรฐาน มีหลักฐานและข้อมูลทางการแพทย์ที่น่าเชื่อถือและอ้างอิงได้ เราให้การบริการด้วยความจริงใจ และตั้งมั่นที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยและญาติให้มากที่สุด โดยมีการประสานงานการรักษากับทีมแพทย์เฉพาะทางสหสาขา 


21EX

23EX

RapidArc

iX


เครื่องฉายรังสี Linear Accelerator 4 เครื่อง ซึ่งสามารถทำการรักษาฉายรังสีแบบ 3 มิติ แบบปรับความเข้ม 1,000 องศา พร้อมกับการปรับความเร็วของการหมุนและการเคลื่อนที่ของซี่ตะกั่วกำบังรังสี (Volumetric Modulated Arc Therapy) ซึ่งสามารถฉายรังสีแบบปรับความเข้มหมุนรอบตัวผู้ป่วยที่ฉายรังสีได้ในเวลาอันสั้น พร้อมระบบภาพนำวิถีแบบ 2 และ 3 มิติ เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของลำรังสี (Image-guided radiotherapy: IGRT)

เครื่องฉายรังสีความเข้มสูง (TrueBeam) เป็นเครื่องที่ใช้วิธีการฉายลำรังสีโดยไม่ต้องผ่านที่กรองร้งสีให้เรียบ เรียกว่า unflat beam ทำให้ได้อัตราปริมาณรังสีสูงถึง 2,400 cGy/MU สามารถทำการฉายรังสีแบบปรับความเข้มด้วยเวลาอันรวมเร็วจึงเหมาะกับการรักษาที่ให้ปริมาณรังสีสูงใช้จำนวนครั้งการรักษาลดลง


เครื่องฉายรังสีแบบศัลยกรรมความเข้มสูง (TrueBeam) สามารถทำการรักษาฉายรังสีศัลยกรรมบริเวณศีรษะได้อย่างแม่นยำ พร้อมระบบภาพนำวิถีแบบ 3 มิติ เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของรังสี (Image-guided radiotherapy: IGRT) และมีระบบตรวจสอบตำแหน่งผู้ป่วยตลอดเวลา โดยใช้แสงอินฟราเรด เรียกว่า Align RT

เครื่องจำลองการฉายรังสีด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ 2 เครื่อง ซึ่งสามารถให้การจำลองการฉายรังสีทั้งแบบ 3 และ 4 มิติ (CT simulation)

เครื่องจำลองการฉายรังสีด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า 2 เครื่อง ( MRI simulation ) ซึ่งสามารถเห็นภาพของเนื้อเยื่อคมชัดกว่าภาพจากเครื่องจำลองด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะรอยโรคในสมองและช่องเชิงกราน โดยสาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา ฝ่ายรังสีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นแห่งแรกในเอเชียที่มีการใช้เทคโนโลยีการจำลองการฉายรังสีด้วยภาพสะท้อนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้านี้

เครื่องใส่แร่แบบ 3 มิติ พร้อมอุปกรณ์ใส่แร่แบบ 3 มิติ โดยสาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา ถือเป็นสถานทีแห่งแรกในเอเชีย ที่ให้บริการการใส่แร่แบบ 3 มิติ โดยใช้เครื่องจำลองการฉายรังสีด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการรักษาให้มากที่สุด

เครื่องฉายรังสีเต้านมในห้องผ่าตัดแบบสัมผัส เพื่อทำลายเซลล์เพียงครั้งเดียวหลังการผ่าตัดเอาก้อนออก เพื่อช่วยลดระยะเวลาการฉายรังสีระยะไกลสำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมได้ ถือว่าโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มีเครื่องฉายรังสีเป็นเครื่องแรกของประเทศไทยและเปิดใช้งานตั้งแต่ปี
พ.ศ. 2554

 

 
เครื่องมือด้านรังสีวินิจฉัยที่มีมากที่สุดในประเทศไทย อาทิ
 

1. เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computed tomography: CT scanner) จำนวน 4 เครื่อง
2. เครื่องวินิจฉัยด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic resonance imaging: MRI scanner) จำนวน 4 เครื่อง
3. เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สำหรับรังสีร่วมรักษา จำนวน 1 เครื่อง
4. เครื่องวินิจฉัยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสำหรับรังสีร่วมรักษา จำนวน 1 เครื่อง
5. เครื่องวินิจฉัยด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสำหรับมะเร็งเต้านม (Breast MRI scanner) จำนวน 1 เครื่อง
6. เครื่องตรวจภาพรังสีเต้านม (Digital Mamography) จำนวน 4 เครื่อง และมีระบบการเจาะชิ้นเนื้อด้วยแมมโมโทม (Mammotome) จำนวน 1 เครื่อง
7. เครื่องเอกซเรย์ระบบดิจิตัล (Digital radiography) จำนวน 24 เครื่อง
8. เครื่องเอกซเรย์ระบบดิจิตัลฟลูออโรสโคป (Digital fluoroscopy) จำนวน 5 เครื่อง
9. เครื่องเอกซเรย์ดิจิตัลสำหรับเส้นเลือด DSA & IR (Digital subtraction angiography and Intervention radiology) จำนวน 4 เครื่อง
10. เครื่องวินิจฉัยโรคทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์แบบ 3 มิติด้านระบบ SPECT จำนวน 3 เครื่อง
11. เครื่องวินิจฉัยโรคทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์แบบ 3 มิติด้วยระบบ SPECT/CT จำนวน 2 เครื่อง
12. เครื่องเพ็ทซีที (PET/CT scanner) จำนวน 1 เครื่อง
13. เครื่องตรวจความหนาแน่นของกระดูก (Bone density scanner) จำนวน 2 เครื่อง
14. เครื่องตรวจความสามารถในการจับไอโอดีนของต่อมไทรอยด์ (Thyroid uptake and scan) จำนวน 1 เครื่อง

 
การรักษาด้วยวิธีทันสมัยอื่นๆ อีก อาทิ
 

1. การรักษามะเร็งไทรอยด์ด้วยสารกัมมันตภาพรังสีไอโอดีน131 (Radioactive iodine I-131)
2. การรักษามะเร็งโดยไม่ต้องผ่าตัด แต่ทำลายก้อนเนื้อเซลล์มะเร็งโดยใช้ความร้อนและคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Radiofrequency) การฉีดยาเข้าไปในก้อนมะเร็ง
    โดยตรง (Percutaneous ethanol injection) หรือการใช้คลื่นไมโครเวฟ (Microwave ablation) สามารถใช้รักษาก้อนเนื้อและมะเร็งที่ตับ ปอด ไต และกระดูก
3. การรักษามะเร็งตับและก้อนเนื้อที่มีเส้นเลือดไปเลี้ยงมาก (Hypervascular tumour) ด้วยการฉีดยาเข้าไปในก้อนมะเร็ง
    (Transcatheter arterial chemoembolization: TACE) ผ่านหลอดเลือดบริเวณขาหนีบ
4. การใช้กัมมันตรังสี ด้วยอิตเทรียม-90 (Yttrium-90) อุดเส้นเลือดใช้สำหรับการรักษามะเร็งตับ ก้อนเนื้อมะเร็งที่มีการแพร่กระจายไปที่ตับ โดยไม่ต้องผ่าตัด
5. การผ่าตัดด้วยระบบหุ่นยนต์ผ่าตัด (Robotic surgery: da Vinci Si HD) จากประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นเทคโนโลยีรุ่นใหม่ล่าสุดและมีคุณภาพที่สุด
    มีในประเทศไทยเป็นเครื่องแรก สามารถใช้ในการผ่าตัดผู้ป่วยหลายระบบ ได้แก่ด้าน ศัลยกรรมระบบลำไส้ใหญ่ และทวารหนัก และด้านสูตินรีเวช
    เช่น ในโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งไต มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก และมะเร็งปากมดลูก

 

ศูนย์เคมีบำบัดตึกว่องวานิช

             ศูนย์เคมีบำบัดตึกว่องวานิช เปิดให้การบริการดูแลผู้ป่วยมะเร็งด้านการให้ยาเคมีบำบัดโดยไม่ต้องนอนโรงพยาบาล (Daycare Clinic) โดยมีเตียงสำหรับการให้ยาเคมีบำบัด 38 เตียง สามารถรองรับผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องมาให้ยาได้ถึงวันละ 100 คน มีการผสมยาเคมีบำบัดควบคุมโดยเภสัชกร นอกจากนี้ผู้ป่วยจะได้รับการดูแลและประเมินผลข้างเคียงในระหว่างการให้ยาเคมีบำบัดอย่างใกล้ชิด และสามารถขอรับคำปรึกษาเกี่ยวกับยาเคมีบำบัดโดยทีมพยาบาลผู้มีความชำนาญการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง