Pediatric radiation oncology

โรคมะเร็งสมองในเด็ก
เรียบเรียงโดย อ.ปิติ เตชะวิจิตร์

       โรคมะเร็งสมองในเด็กเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยเป็นอันดับสองรองจากมะเร็งเม็ดเลือดขาว ในประเทศไทยมีผู้ป่วยเด็กที่ได้รับการวินิจฉัยใหม่ประมาณปีละ 200 ราย พบได้ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยรุ่น ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างรวดเร็วและเหมาะสมมีโอกาส หายขาด รอดชีวิตและเติบโตเป็นผู้ใหญ่ได้ โดยมีคุณภาพชีวิตไม่แตกต่างจากเด็กปกติ

สาเหตุ
       
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน แต่เชื่อว่าการเกิดโรคมีปัจจัยร่วมกันระหว่างปัจจัยทางพันธุกรรมและปัจจัยสิ่งแวดล้อม ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่ การได้รับสารกัมมันตรังสีโดยเฉพาะที่บริเวณศีรษะและไขสันหลัง นอกจากนี้ผู้ป่วยที่มีโรคความผิดปกติทางพันธุกรรมแต่กำเนิดบางชนิดจะมีโอกาสเกิดโรคมะเร็งสมองได้มากกว่าคนปกติ เช่น โรคท้าวแสนปม (Neurofibromatosis) โรคทูเบอรัส สเคลอโรซิส คอมเพล็กซ์  (ทีเอสซี/TSC) เป็นต้น

อาการและอาการแสดง
       
ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการและอาการแสดงที่ไม่เฉพาะเจาะจง และคล้ายกับการเจ็บป่วยอื่นๆที่พบบ่อยในเด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็กเนื่องจากผู้ป่วยไม่สามารถบอกอาการหรือความเจ็บป่วยทางกายได้ อาการและอาการแสดงของโรคมะเร็งสมองในเด็กอาจแตกต่างตามช่วงอายุของผู้ป่วยดังนี้
       - เด็กทารกและเด็กเล็กที่ยังไม่เริ่มเกาะยืนหรือเดิน อาจมีอาการอาเจียนเรื้อรังที่ไม่มีสาเหตุจากโรคระบบทางเดินอาหาร เลี้ยงไม่โต ตรวจร่างกายพบกระหม่อมและรอยแยกกะโหลกศีรษะกว้างกว่าค่าปกติ ขนาดศีรษะโตเร็วกว่าปกติ หากเป็นมากอาจพบตาเคลื่อนไหวผิดปกติเช่น ตาเหล่เข้าด้านในจากความดันในระบบประสาทขึ้นสูง การเคลื่อนไหวผิดปกติไม่เท่ากันจากอ่อนแรงของแขนและขา การวินิจฉัยผู้ป่วยอายุช่วงวัยนี้มักทำได้ยากและมักได้รับการวินิจฉัยล่าช้า
       - เด็กเล็กก่อนวัยเรียนและวัยอนุบาล อาจมีอาการอาเจียนโดยเฉพาะตอนเช้าหลังตื่นนอน มีอาการปวดศีรษะ โดยเฉพาะหากมีอาการและร้องกวนจนตื่นกลางดึก เด็กอาจแสดงอาการปวดศีรษะด้วยการทุบหรือกระแทกศีรษะ ผู้ป่วยบางรายมีอาการเดินเซ แขนขาอ่อนแรง
       -ในเด็กวัยเรียนหลังวัยอนุบาล มักมีอาการปวดศีรษะ โดยเฉพาะการปวดที่มีอาการรุนแรงมากขึ้นและระยะเวลาที่มีอาการน้อยกว่า 6 เดือน โดยเฉพาะหากมีอาการปวดจนตื่นกลางดึก อาเจียนหลังตื่นนอนตอนเช้าโดยอาเจียนเรื้อรังและไม่พบสาเหตุอื่น แขนขาอ่อนแรง เดินเซ ผู้ป่วยบางรายอาจมาด้วยความผิดปกติของการมองเห็นผิดปกติหรือเห็นภาพซ้อนจากการที่ก้อนกดเส้นประสาทการมองเห็น ปัสสาวะบ่อยหิวน้ำบ่อยจากภาวะพร่องฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง

การวินิจฉัย
       
อาศัยประวัติและการตรวจร่างกายเพื่อหาความผิดปกติทางระบบประสาท หากแพทย์สงสัยโรคเนื้องอกหรือมะเร็งสมองผู้ป่วยจะได้รับการตรวจทางรังสีวิทยาของสมอง ซึ่งอาจเป็นการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) หรือการตรวจตรวจด้วยเครื่องสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เนื้องอกบางชนิดสามารถวินิจฉัยได้จากการตรวจสารบ่งชี้มะเร็ง (tumor markers) จากเลือดหรือน้ำไขสันหลัง การวินิจฉัยโรคที่แน่นอนทำได้โดยการตรวจชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้องอกโดยพยาธิแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ในปัจจุบันการตรวจทางอณูชีววิทยา (Molecular biology) สามารถจำแนกโรคได้ละเอียดแม่นยำมากยิ่งขึ้น

การรักษา
       
การรักษาโรคมะเร็งสมองในเด็กจำเป็นต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญหลายสาขาและการรักษาหลายรูปแบบร่วมกันเพื่อผลการรักษาที่ดี ลดภาวะแทรกซ้อน และผู้ป่วยที่รอดชีวิตเติบโตด้วยคุณภาพชีวิตที่ดีใกล้เคียงปกติมากที่สุด การรักษาที่สำคัญประกอบด้วย
       -การผ่าตัด มีบทบาททั้งการวินิจฉัยโรคและการรักษา โรคมะเร็งสมองในเด็กส่วนใหญ่หากสามารถผ่าตัดก้อนออกได้หมดจะมีการพยากรณ์โรคดีและมีอัตราการรอดชีวิตที่สูงมากกว่า อย่างไรก็ตามเนื้องอกบางตำแหน่ง เช่น เนื้องอกในแกนก้านสมอง การผ่าตัดอาจมีข้อจำกัดไม่สามารถผ่าตัดเอาเนื้องอกออกได้
       -รังสีรักษา (การฉายแสง) มะเร็งสมองในเด็กส่วนใหญ่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยรังสีรักษา ในปัจจุบันเทคนิคและเครื่องฉายแสงมีการพัฒนาก้าวหน้าเป็นอย่างมาก ทำให้สามารถให้รังสีรักษาเฉพาะตำแหน่งของก้อนเนื้องอกและลดผลข้างเคียงต่อเนื้อสมองปกติ การรักษาด้วยรังสีมีข้อจำกัดในผู้ป่วยที่มีอายุน้อย โดยเฉพาะอายุน้อยกว่า 2 ปีครึ่งหรือ 3 ปี การรักษาอาจมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของเนื้อสมองปกติ ดังนั้นโดยทั่วไปแพทย์มักเลือกการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น การให้ยาเคมีบำบัดไปก่อนให้รังสีรักษาเมื่อผู้ป่วยอายุมากกว่า 3 ปี
       -การรักษาด้วยเคมีบำบัด มะเร็งสมองในเด็กบางชนิดตอบสนองได้ดีต่อยาเคมีบำบัด การรักษาด้วยยาเคมีบำบัดมักทำตามหลังการผ่าตัดและการฉายแสง การให้ยาเคมีบำบัดในเนื้องอกสมองบางชนิดทำให้สามารถลดปริมาณรังสีรักษาลงทำให้ผลกระทบต่อผู้ป่วยลดน้อยลงด้วย นอกจากนี้ในผู้ป่วยที่อายุน้อยกว่า 3 ปีซึ่งยังไม่สามารถรับการรักษาด้วยรังสีรักษาได้ การให้ยาเคมีบำบัดจะช่วยประวิงให้เนื้องอกไม่โตขึ้นและผู้ป่วยสามารถรับการรักษาด้วยรังสีรักษาได้เมื่ออายุเหมาะสม นอกจากนี้ในปัจจุบันการตรวจทางอณูชีววิทยา (Molecular biology) ช่วยในการวินิจฉัยจำแนกโรคมะเร็งสมองในเด็กได้ละเอียดมากกว่าอดีต ทำให้การรักษาโดยการแพทย์แบบแม่นยำ (Precision medicine) และการให้ยาแบบพุ่งเป้า (Targeted therapy) เริ่มมีบทบาทในการรักษามากขึ้น
       - การฟื้นฟูและกายภาพบำบัดรวมถึงการดูและรักษาประคำประคองอื่น ๆ สำคัญมากในผู้ป่วยเด็กโรคมะเร็งสมอง เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการทางระบบประสาท อาจมีปัญหาการหายใจ การกลืน หรือการเคลื่อนไหวร่างกาย ผู้ป่วยจำเป็นการฟื้นฟูและกายภาพบำบัดควบคู่ไปกับการรักษา เพื่อลดถาวะแทรกซ้อนและเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้การดูแลด้านโภชนาการให้ผู้ป่วยไม่มีภาวะขาดสารอาหารก็มีความจำเป็นในผู้ป่วยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระหว่างที่ผู้ป่วยได้รับการรักษา

การพยากรณ์โรค
       
ขึ้นอยู่กับชนิดของของเนื้องอก การผ่าตัดเอาเนื้องอกออกได้หมด อายุผู้ป่วยและตำแหน่งของเนื้องอกเป็นสำคัญ ผู้ป่วยที่มีการพยากรณ์โรคที่ดี ได้แก่ ผู้ป่วยที่อายุมากกว่า 3 ปี สามารถผ่าก้อนเนื้องอกออกได้หมด และชนิดเนื้องอกตอบสนองต่อยาเคมีบำบัดและรังสีรักษา