ข้อมูลสำหรับผู้ป่วยใหม่

การปฏิบัติตนสำหรับผู้ป่วย

สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
การฉายรังสี, รังสีรักษา หรือการฉายแสง
การรักษาโรคมะเร็งในปัจจุบัน ใช้การผสมผสานกันหลายวิธี ทำให้การรักษาด้วยการฉายรังสีเข้ามามีบทบาทสำคัญ ในการรักษาโรคมะเร็งมากขึ้น โดยอาศัยหลักการที่ว่าการฉายรังสีไปยังเนื้อเยื่อของเนื้องอกหรืออวัยวะใดๆ ก็ตามซึ่งเป็น เนื้อเยื่อที่มีชีวิต รังสีจะทำให้เกิดการทำลายดีเอ็นเอ (DNA) ของเซลล์เนื้องอกโดยตรงทำให้เกิดการตายและการเปลี่ยนแปลงรูปร่างและสรีระวิทยาของเซลล์เนื้องอกนั้น
 
เป้าหมายการรักษาด้วยการฉายรังสีมี 2 ประเภท คือ
1. การรักษาให้หายขาด ในกลุ่มที่คาดหวังว่าจะรักษาให้หายขาดได้ ต้องพิจารณาให้รังสีแก่ผู้ป่วย ในปริมาณที่ เพียงพอ และบางครั้งต้องยอมรับผลข้างเคียงซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้เพื่อให้ผู้ป่วยมีชีวิตอยู่รอดได้ โดยยึดหลักสำคัญคือ การให้ปริมาณรังสีที่สูงสุด เพื่อให้ได้ผลดีที่สุดและผลข้างเคียงที่ยอมรับได้
2. การรักษาแบบประคับประคอง ใช้ในผู้ป่วยที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย โดยลดอาการเหล่านี้คือ อาการปวด การอุดตันภาวะเลือดออก การรักษาแผล รักษากระดูกหักจากมะเร็ง เป็นต้น
 
ผลข้างเคียงของการฉายรังสี
ผลข้างเคียงเฉียบพลัน พบตั้งแต่เริ่มการรักษาไปจนถึงภายใน 8 สัปดาห์หลังการฉายรังสี ซึ่งเกิดขึ้นกับบริเวณ ที่ฉายรังสี เช่น การเปลี่ยนแปลงของผิวหนังบริเวณที่ฉายรังสี การเกิดอาการอ่อนเพลีย ภูมิต้านทานต่ำจากเม็ดเลือด ขาวลดจำนวนลง เป็นต้น
 
ผลข้างเคียงระยะเรื้อรัง ซึ่งมักเกิดขึ้นหลังได้รับการรักษาด้วยการฉายรังสีเสร็จสิ้นไปแล้วนานหลายเดือนจนถึง หลายปี ซึ่งเกิดจากการฉายรังสีทำให้เกิดความเสียหายต่อเนื้อเยื่อปกติ ซึ่งอาจทำให้เกิดความผิดปกติของหลอดเลือด ฝอย เช่น ถ้าฉายรังสีบริเวณอุ้งเชิงกรานจะมีอาการกระเพาะปัสสาวะอักเสบหรือลำไส้อักเสบแบบเรื้อรังหรือช่องคลอด ตีบตัน เป็นต้น
 
ผลของการฉายรังสีจะดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบ 3 ประการ คือ
1. ความพร้อมและความร่วมมือของผู้ป่วย สภาพจิตใจ สภาพร่างกาย ภาวะโภชนาการ
2. ลักษณะของมะเร็ง เช่น ความไวต่อรังสี ลักษณะของเซลล์ ระยะของโรค ตำแหน่งที่เป็นมะเร็ง
3. ความรู้ความชำนาญของบุคลากรทางการแพทย์ และความพร้อมของเครื่องมือ
 
การดูแลสุขภาพทั่วไปขณะได้รับการรักษาด้วยการฉายรังสี
1. อาหาร ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ วิตามินสูง โปรตีนสูงย่อยง่าย เช่น เนื้อปลา นม ไข่ ตับสัตว์  ถั่วต่างๆ ผัก ผลไม้ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง
2. ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 2,000-3,000 cc น้ำช่วยให้ร่างกายชุ่มชื้น และระบายความร้อนออกจากร่างกาย
3. รักษาความสะอาดทั่วไปของร่างกาย ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า เพราะผู้ป่วยที่รักษาด้วยรังสี จะอ่อนเพลียและภูมิต้านทานต่ำ ถ้าร่างกายสกปรกจะเกิดโรคแทรกซ้อนได้ง่าย
4. การขับถ่ายของเสียออกจากร่างกาย ถ้ามีอาการท้องผูกหรือท้องเดินให้แจ้งแพทย์ หรือพยาบาลทราบ
5. การพักผ่อนนอนหลับ ควรนอนอย่างน้อยวันละ 6-8 ชั่วโมง ถ้านอนไม่หลับให้แจ้งแพทย์หรือพยาบาลทราบ
6. การออกกำลังกายตามสภาพของร่างกาย และทำอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้ร่างกายแข็งแรง และการไหลเวียน ของโลหิตดีขึ้น
7. ผู้ป่วยที่มีอาการปวดศีรษะ ปวดตามร่างกาย หรือมีอาการผิดปกติต่างๆ เช่น อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร เจ็บปาก เจ็บคอ กลืนลำบาก ผิวหนังอักเสบ ให้แจ้งแพทย์ หรือพยาบาลทราบเพื่อหาทางช่วยเหลือ
8. ควรทำจิตใจให้สบาย หางานอดิเรกทำ เช่น อ่านหนังสือ ฟังวิทยุ ดูทีวี และพูดคุยกับผู้อื่น
9. ผู้ป่วยต้องได้รับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ได้แก่ CBC สัปดาห์ละครั้ง เพื่อประเมินภาวะสุขภาพขณะรับการฉายรังสี
 
การดูแลผิวหนังบริเวณที่ได้รับการฉายรังสี
1. ห้ามลบเส้นบริเวณที่ฉายรังสีที่แพทย์ขีดไว้ เพราะถ้าเส้นลบแพทย์จะต้องขีดใหม่ ทำให้เสียเวลาในการรักษาอย่าขีดเส้นที่ลบเลือนด้วยตัวเอง
2. ผู้ป่วยที่ได้รับการฉายรังสีบริเวณศีรษะ อาจมีอาการผมร่วง ไม่ควรสระผม ให้ขอคำแนะนำจากพยาบาล ก่อนห้ามใช้น้ำมันใส่ผม หรือผลิตภัณฑ์ทาผมหรือแว็กซ์ทาบริเวณที่ฉายรังสี ถ้ารู้สึกคันศีรษะ อาจใช้น้ำมันมะกอกทา ส่วน อาการผมร่วง ผมจะขึ้นใหม่ได้ภายหลังการรักษาสิ้นสุดแล้ว 2-3 เดือน
3. หลีกเลี่ยงการถูกแสงแดดจัด หรือการสัมผัสบริเวณที่ฉายรังสีโดยตรงกับความร้อนหรือความเย็น ควรสวมหมวกหลวมๆ หรือกางร่ม
4. ผู้ป่วยที่ได้รับการฉายรังสีบริเวณลำคอ ผิวหนังอาจมีสีแดง แห้งตึง เกิดอาการคัน ดำคล้ำ และตกสะเก็ด หรือแตกเป็นแผล ห้ามถู แกะ เกา ควรสวมเสื้อหลวมๆ นุ่มๆ ที่ทำจากเส้นใยธรรมชาติ เพื่อลดการเสียดสีผิวหนังควรตัดเล็บ ให้สั้นเพื่อป้องกันการแกะเกา
5. ผิวหนังบริเวณที่ฉายรังสี ควรล้างด้วยน้ำสะอาด หรือน้ำสบู่ที่ไม่มีส่วนผสมของน้ำหอม และควรใช้ผ้าเช็ดตัวที่ อ่อนนุ่มซับบริเวณที่ฉายรังสี หลีกเลี่ยงการขัดถู หลีกเลี่ยงการใช้น้ำฝักบัวที่มีแรงดันน้ำที่แรงในการอาบน้ำ
6. ไม่ควรว่ายน้ำในสระที่มีคลอรีน เพราะจะทำให้ผิวแห้ง
7. ห้ามวางกระเป๋าน้ำร้อน น้ำแข็งบริเวณที่ฉายรังสี ห้ามปิดพลาสเตอร์ ทายาหม่อง บริเวณที่ฉายรังสี
8. ถ้าเกิดอาการคัน ห้ามทาแป้งฝุ่น เพราะแป้งฝุ่นผสมด้วยโลหะหนัก ทำให้ระคายเคือง ผิวดำคล้ำมากขึ้น ให้ใช้แป้งข้าวโพดบริสุทธิ์แทน
9. ใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF15 เป็นเวลา 1 ปี หลังการฉายรังสีเสร็จสิ้น
 
การปฏิบัติตนสำหรับผู้ป่วย