การปฏิบัติตัวเมื่อได้รับการรักษาด้วยการสอดใส่แร่อิรีเดียม
มะเร็งปากมดลูก คือ เนื้อร้าย (มะเร็ง) ที่เกิดจากการเจริญเติบโตที่ผิดปกติของเซลล์บริเวณปากมดลูก โดยเซลล์ที่มีความผิดปกตินี้
สามารถลุกลามไปอวัยวะข้างเคียงและสามารถแพร่กระจายไปที่ อวัยวะอื่น ซึ่งอยู่ ไกลออกไปได้ มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่พบบ่อยและเป็นปัญหาทางสาธารณะสุขที่สำคัญของผู้หญิงไทย การรักษาของมะเร็งปากมดลูก ประกอบด้วยการผ่าตัด รังสีรักษา และเคมีบำบัด ทั้งนี้การพิจารณาวิธี การรักษานั้นแพทย์จะพิจารณา ตามระยะของโรค และความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย
รังสีรักษา คือ การรักษาโรคโดยใช้รังสี เป็นวิธีการหลักในการรักษามะเร็งปากมดลูกโดยประกอบด้วย การฉายรังสี และสอดใส่แร่
การสอดใส่แร่อิริเดียม เป็นการรักษาด้วยรังสีระยะใกล้ โดยให้ต้นกำเนิดรังสีอยู่ใกล้กับบริเวณเนื้องอก/ก้อนมะเร็งที่จะทำการรักษาทำให้ เนื้องอก/ก้อนมะเร็งบริเวณที่อยู่ใกล้ต้นกำเนิดรังสีได้รับปริมาณรังสีสูงและบริเวณที่อยู่ถัดมาซึ่งเป็นเนื้อเยื่อปกติได้รับปริมาณรังสีน้อย แร่อิรีเดียม มีลักษณะเป็นแท่งกลมๆเล็ก ๆ ควบคุมการเคลื่อนที่ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ และสามารถวางแผนการรักษาแบบ 3 มิติ ทำให้ได้รับการรักษาที่ ถูกต้องแม่นยำ ใช้ระยะเวลาการรักษาไม่นาน ภายหลังการรักษาแต่ละครั้งเม็ดแร่จะถูกนำออกจากตัวผู้ป่วยและไม่มีรังสีตกค้างในตัวผู้ป่วย ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล เมื่อรักษาเสร็จสามารถกลับบ้านได้ ถ้าผู้ป่วยอยู่ระหว่างการฉายรังสี ให้หยุดการฉายรังสีในวันที่สอดใส่แร่ 1 วัน
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นสถาบันแรกในประเทศไทยที่ได้นำเทคโนโลยีของการสร้างภาพด้วยคลื่นสะท้อนในสนามแม่เหล็กมาปรับ ใช้กับการใส่แร่อย่างเต็มรูปแบบ อีกทั้งเป็นศูนย์กลางในการฝึกอบรมเกี่ยวกับการใส่แร่ด้วยการสร้างภาพจากคลื่นสะท้อนในสนามแม่เหล็กให้ กับสถาบันต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้ร้อยละ 80 ของผู้ป่วยใส่แร่ ทั้งหมดได้ใช้เทคนิคนี้ในการรักษา เนื่องจากวิธีนี้สามารถเพิ่มอัตราการควบคุมโรคได้มากกว่าร้อยละ 95 เมื่อเทียบกับเทคนิคเดิมแบบการสร้างภาพด้วยเครื่องเอกซเรย์ธรรมดา ซึ่งมีอัตราการ
ควบคุมโรคอยู่ที่ประมาณร้อยละ 60 เท่านั้น
การเตรียมตัวก่อนสอดใส่แร่
- เช้าก่อนมาใส่แร่ ควรรับประทานอาหารอ่อน เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม
- นำอุปกรณ์และยาที่แพทย์สั่ง ผ้าอนามัย 1-2 ชิ้นมาโรงพยาบาล
- มาถึงโรงพยาบาลตามเวลานัดหรือก่อนเวลานัด 30 นาที
- กรุณานำญาติมาด้วยทุกครั้ง เนื่องจากผู้ป่วยบางรายจำเป็นต้องได้รับยาคลายเครียด
- เมื่อมาถึงให้หยิบบัตรคิว เพื่อเรียงลำดับการรักษาสอดใส่แร่ก่อน-หลัง
- ผู้ป่วยที่ใช้สิทธิ 30 บาท กรุณาให้ญาติติดต่อรับคูปองที่ ภปร ชั้นล่าง
การเตรียมตัวก่อนสอดใส่แร่
ขั้นตอนที่ 1 การเตรียมตัว
- เจ้าหน้าที่ต้อนรับ แนะนำสถานที่ ผู้ป่วยเปลี่ยนเสื้อผ้าที่จัดเตรียมไว้ให้
- พยาบาลประเมินอาการผู้ป่วย โรคประจำตัว ประวัติการแพ้ พร้อมแนะนำการปฏิบัติตัว
- ผู้ป่วยจะได้รับประทานยาแก้ปวดและยาคลายเครียด ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการง่วงนอนทั้งวัน ดังนั้นญาติควรเฝ้าระวังผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด เพราะอาจเกิดการพลัดตกหกล้มได้
ขั้นตอนที่ 2 การใส่เครื่องมือ
- เจ้าหน้าที่พาผู้ป่วยเข้าห้องใส่เครื่องมือ โดยนอนท่าตรวจภายใน
- แพทย์จะใส่สายสวนปัสสาวะคาไว้และฉีดสารทึบแสงเข้าไปในลูกโป่งของสายสวนปัสสาวะ เพื่อดูตำแหน่งของกระเพาะปัสสาวะ
- แพทย์จะทำการตรวจภายในเพื่อดูขนาดของช่องคลอด ขยายปากมดลูก วัดความลึกของโพรงมดลูก จากนั้นสอดใส่เครื่องมือเข้าไปในโพรงมดลูก และปากมดลูกทั้งสองข้าง ใส่ผ้าก๊อซเข้าไปในช่องคลอดจนแน่น เพื่อป้องกันไม่ให้กระเพาะปัสสาวะและทวารหนักถูกรังสีมากเกินไป
- ช่วยให้เลือดหยุดในกรณีที่มีเลือดออก
- ป้องกันไม่ให้เครื่องมือสอดใส่แร่เคลื่อนไปจากตำแหน่งที่ต้องการ
- ขณะทำการใส่เครื่องมือ ผู้ป่วยอาจรู้สึกเจ็บ ซึ่งสามารถบรรเทาอาการเจ็บด้วยการหายใจเข้าทางจมูกลึก ๆ แล้วค่อย ๆ ผ่อนลมหายใจออกทางปากอย่างช้า ๆ ไม่ควรยกขา เกร็งก้นหรือขยับก้นหนี เพราะจะทำให้แพทย์จัดเครื่องมือลำบากและเกิดอาการเจ็บมากขึ้น
ขั้นตอนที่ 3 เอกซ์เรย์ตรวจสอบตำแหน่ง
- เจ้าหน้าที่เคลื่อนย้ายผู้ป่วยเข้าห้องเอกซ์เรย์ / CT / MRI เพื่อตรวจสอบตำแหน่งเครื่องมือที่ใส่ ใช้เวลาการเอกซเรย์ประมาณ 3-15 นาที ผู้ป่วยจะต้องนอนนิ่ง ๆ เพื่อป้องกันเครื่องมือเคลื่อนจากตำแหน่ง
ขั้นตอนที่ 4 การคำนวณแผนการรักษา
- เจ้าหน้าที่เคลื่อนย้ายผู้ป่วยเข้าสู่ห้องพัก ผู้ช่วยพยาบาลประเมินอาการและจัดผ้ารองส้นเท้าให้ผู้ป่วย เพื่อลดอาการปวดเมื่อย นักฟิสิกส์ทางการแพทย์คำนวณระยะเวลาในการใส่แร่ ผู้ป่วยควรกลั้นปัสสาวะและนอนนิ่ง ๆ เพื่อป้องกันเครื่องมือเคลื่อนจากตำแหน่ง
ขั้นตอนที่ 5 การรักษาด้วยแร่อิรีเดียม
- เจ้าหน้าที่เคลื่อนย้ายผู้ป่วยเข้าห้องแร่
- ขณะรับการรักษาผู้ป่วยจะไม่รู้สึกเจ็บ แต่ผู้ป่วยควรกลั้นปัสสาวะและนอนนิ่ง ๆ ภายในห้องแร่จนกว่าจะครบเวลารักษา เพื่อป้องกันเครื่องมือเคลื่อนจากตำแหน่ง ใช้เวลาในการรักษาประมาณ10 -40 นาที โดยมีพยาบาลเฝ้าสังเกตอาการทางโทรทัศน์วงจรปิดด้านนอก กระบวนการโหลดแร่จะถูกควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีประสิทธิภาพ ความคงคลาดเคลื่อนของการโหลดแร่จะไม่เกิน 1 มิลลิเมตร จากแผนการรักษาที่วางไว้
- เมื่อครบการรักษาเครื่องคอมพิวเตอร์จะนำแร่ออกจากตัวผู้ป่วย
ขั้นตอนที่ 6 การนำเครื่องมือออกและกลับบ้าน
- เจ้าหน้าที่เคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกจากห้องใส่แร่ เพื่อนำเครื่องมือที่แพทย์ใส่ในโพรงมดลูก และช่องคลอด ผ้าก๊อส สายสวนปัสสาวะออก
- พยาบาลประเมินอาการภายหลังนำเครื่องมือออก
- ผู้ป่วยปัสสาวะ เปลี่ยนเสื้อผ้า
- ญาติผู้ป่วยชำระเงินค่าสอดใส่แร่ 5800 บาท ที่เคาน์เตอร์การเงินตึกว่องวานิช 1 กลับบ้านได้
- กรณีใส่แร่ครั้งสุดท้าย ผู้ป่วยจะได้รับใบนัดเพื่อพบแพทย์ตรวจครั้งต่อไปจากพยาบาล
การดูแลตนเองหลังสอดใส่แร่อิรีเดียม
- หลังถอดเครื่องมือออกแล้วอาจมีเลือดออกได้บ้าง ควรใส่ผ้าอนามัยไว้ก่อน และควรนั่งพักจนกว่าจะหายอาการมึนงงจากฤทธิ์ยา
- รับประทานอาหารที่สุก สะอาด มีคุณค่าครบทั้ง 5 หมู่ ควรงดอาหารรสเผ็ด หรืออาหารที่ทำให้ท้องเสีย
- ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว
- รักษาความสะอาดของร่างกาย ทำความสะอาดบริเวณอวัยวะสืบพันธ์ด้วยสบู่อ่อนๆ และน้ำสะอาด ใช้ผ้านุ่ม ๆซับให้แห้ง งดอาบน้ำหรือแช่ในแม่น้ำ ลำคลอง น้ำตกและน้ำขังต่างๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ถ้ามีเลือดหรือน้ำออกทางช่องคลอด ควรทำความสะอาดและเปลี่ยนผ้าอนามัยทุก 3 – 4 ชั่วโมง
- งดมีเพศสัมพันธ์ระหว่างการรักษา เพื่อป้องกันการอักเสบปากมดลูก
- บริหารข้อสะโพกทุกวัน เพื่อป้องกันข้อสะโพกยึดติด
- สังเกตอาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นหลังสอดใส่แร่ เช่น มีเลือดออกมาก หรือ ปวดท้องมาก เป็นต้น ถ้ามีอาการควรปรึกษาแพทย์
- มารับการสอดใส่แร่ครบตามแผนการรักษา ถ้ามีปัญหาควรแจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อเลื่อนนัดสอดใส่แร่หรือปรึกษาแพทย์ ไม่ควรหยุดไปเองเพราะจะไม่เป็นผลดีต่อการรักษา
การบริหารข้อสะโพก
ท่าที่ 1 ยืนแยกขา 2 ข้างออกจากกันเล็กน้อย ก้มตัวสลับกับแอ่นตัวไปข้างหลังให้มากที่สุด ทำอย่างช้าๆ 10 ครั้ง
ท่าที่ 2 ยืนแยกขา 2 ข้างออกจากกันเล็กน้อย ส่ายสะโพกเป็นวงกลม ทำอย่างช้าๆ 10 ครั้ง
ท่าที่ 3 ยืนตรง มือข้างหนึ่งท้าวบนโต๊ะ หรือ พนักเก้าอี้ที่มั่นคง ไม่มีล้อ เตะขาขวาไปข้างหน้าและหลังให้มากที่สุด ทำอย่างช้าๆ 10 ครั้ง สลับขา เตะขาซ้ายไปข้างหน้าและหลังให้มากที่สุด ทำอย่างช้าๆ 10 ครั้ง ในการบริหารท่านี้ต้องมั่นใจว่าสมารถยืนมั่นคงในเท้าข้างเดียวได้
ท่าที่ 4 ยืนตรงเตะขาข้างขวาออกทางด้านข้าง และหุบกลับในท่าเดิมอย่างช้าๆ 10 ครั้ง สลับขา เตะขาข้างซ้ายออกทางด้านข้างและหุบกลับในท่าเดิมอย่างช้าๆ 10 ครั้ง
การปฏิบัติตัวภายหลังการรักษาครบ
- รับประทานอาหารที่สุก สะอาด มีคุณค่าครบทั้ง 5 หมู่ ควรงดอาหารรสเผ็ด หรืออาหารที่ทำให้ท้องเสีย
- ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว
- รักษาความสะอาดของร่างกาย ทำความสะอาดบริเวณอวัยวะสืบพันธ์ด้วยสบู่อ่อนๆ และน้ำสะอาด ใช้ผ้านุ่ม ๆซับให้แห้ง งดอาบน้ำ
- หรือแช่ในแม่น้ำ ลำคลอง น้ำตกและน้ำขังต่างๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ถ้ามีเลือดหรือน้ำออกทางช่องคลอด ควรทำความสะอาดและเปลี่ยนผ้าอนามัยทุก 3 – 4 ชั่วโมง
- การเหน็บยาช่องคลอด ให้เหน็บยาก่อนนอน เริ่มเหน็บยาหลังการสอดใส่แร่ครบ 1 วัน
- สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้หลังการรักษาครบ 3 เดือน ขณะมีเพศสัมพันธ์ควรใส่ถุงยางอนามัยและใช้ K-Y jelly ในการหล่อลื่นในผู้ป่วยที่ไม่มีเพศสัมพันธ์ ควรขยายช่องคลอดโดยใช้นิ้วมือที่ตัดเล็บสั้นและล้างมือให้สะอาด สอดนิ้วชี้และนิ้วกลางเข้าช่องคลอด แยกนิ้วทั้งสองเข้า-ออกจากกัน 10 ครั้ง ทำขณะอาบน้ำวันละ 1 ครั้ง เพื่อป้องกันช่องคลอดตีบตัน เริ่มขยายช่องคลอดภายหลัง ใส่แร่ครบ 1 เดือน
- บริหารข้อสะโพกทุกวัน เพื่อป้องกันการยึดติด
- ใช้โลชั่นทานวดผิวบริเวณท้องน้อยและก้นอย่างสม่ำเสมอทุกวัน
- มาตรวจตามนัด
วิธีการเหน็บยาช่องคลอด
- เมื่อจะเข้านอนปัสสาวะให้เรียบร้อย
- ตัดเล็บมือให้สั้น ล้างมือให้สะอาด
- นั่งยอง ๆ กางขาออกเล็กน้อย หรือนอนหงายชันเข่าขึ้น แยกขาออกจากกัน
- แกะเม็ดยาออก ชุบน้ำเล็กน้อย ค่อยๆสอดเม็ดยาเข้าในช่องคลอดโดยใช้นิ้วมือดันยาเข้าไปให้ลึกที่สุด และเข้านอน ไม่ควรลุกขึ้น เดินอีก ยาจะละลายภายในช่องคลอด เมื่อตื่นนอนตอนเช้าอาจมีคราบยาที่ละลายบริเวณปากช่องคลอด ให้ล้างทำความสะอาด
- ภายนอกด้วยสบู่อ่อนและน้ำสะอาด ไม่ควรสวนล้างน้ำเข้าช่องคลอด ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการแสบในช่องคลอดเล็กน้อย กรณียาที่เหน็บช่องคลอดหล่นจากช่องคลอดภายหลังเหน็บยา ให้ทิ้งยาที่หล่นไป ไม่ต้องนำยาเม็ดใหม่มาเหน็บ
- เหน็บยาคืนเว้นคืนตามจำนวนที่แพทย์สั่งจนครบ