ข้อมูล ณ วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2022
ความรู้ทั่วไป
มะเร็งหลอดอาหาร หรือ esophageal cancer เป็นโรคมะเร็งในระบบทางเดินอาหารที่พบได้บ่อย และสร้างความทุกข์ทรมานให้แก่ผู้ป่วย จากสถิติโรคมะเร็งในประเทศไทย มีจำนวนผู้ป่วยโรคมะเร็งหลอดอาหารประมาณ 3,400 คนต่อปี และมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งหลอดอาหาร ประมาณ 3,200 คนต่อปี มักพบเพศชายมากกว่าเพศหญิง ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ คือ การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ ภาวะกรดไหลย้อน ภาวะน้ำหนักเกิน เป็นต้น
โรคมะเร็งหลอดอาหารแบ่งตามชนิดของเซลล์ได้เป็น 2 ชนิด ได้แก่ ชนิดสะแควมัส (squamous cell carcinoma) และชนิดอะดีโน (adenocarcinoma) ซึ่งชนิดที่พบในประเทศชาวเอเชียได้บ่อย คือ ชนิดสะแควมัส ในปัจจุบันยังไม่มีคำแนะนำให้มีการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งหลอดอาหารในประชาชนทั่วไป ยกเว้นในรายที่มีความผิดปกติของหลอดอาหารอยู่เดิม เช่น Barrett’s esophagus หรือ Tylosis
ผู้ป่วยโรคมะเร็งหลอดอาหาร มักมีอาการเจ็บคอ กลืนลำบาก โดยเริ่มเป็นจากของแข็งก่อน แล้วตามมาด้วยของเหลว จนถึงขั้นไม่สามารถกลืนน้ำลายได้ ต้องบ้วนทิ้ง ทำให้รับประทานอาหารไม่ได้ น้ำหนักลด อาเจียนหรือไอเป็นเลือด เสียงแหบ ผู้ป่วยอาจคลำก้อนได้ที่คอหรือไหปลาร้าถ้ามีการกระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง และบางรายอาจมาด้วยอาการของโรคมะเร็งแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ เช่น ปอด ตับ กระดูก ทำให้มีอาการไอ เหนื่อย ปวดท้อง ปวดหลัง เป็นต้น
การตรวจวินิจฉัยโรค เริ่มจากการส่องกล้องทางเดินอาหารและตัดชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิวิทยา ซึ่งแพทย์อาจพิจารณาใส่สายยางให้อาหารทางจมูก หรือหน้าท้องในผู้ป่วยที่ไม่สามารถรับประทานอาหารได้ด้วย ร่วมกับการตรวจด้วยภาพถ่ายทางรังสี ได้แก่ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือเพ็ทสแกน เพื่อประเมินความรุนแรงและจัดระยะของโรค และการตรวจเลือดเพื่อวิเคราะห์การทำงานของระบบเลือด ตับ และไต
หลักการรักษา
การรักษาโรคมะเร็งหลอดอาหาร ประกอบด้วยการผ่าตัด การฉายรังสี และการให้ยาเคมีบำบัด บางรายอาจพิจารณาให้ยามุ่งเป้า และภูมิคุ้มกันบำบัดร่วมด้วย ทั้งนี้แพทย์จะเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับระยะของโรค และสภาวะร่างกายของผู้ป่วย
การรักษาด้วยรังสีในโรคมะเร็งหลอดอาหาร มีบทบาทดังนี้
- การฉายรังสีและเคมีบำบัดเป็นการรักษานำก่อนการผ่าตัด ในรายที่สามารถผ่าตัดได้
- การฉายรังสีและเคมีบำบัดเป็นการรักษาหลัก ในรายที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ หรือรอยโรคมีการตอบสนองดีหลังจากการฉายรังสีและเคมีบำบัด
- การฉายรังสีและเคมีบำบัดเป็นการรักษาเสริมหลังการผ่าตัด ในรายที่ผลชิ้นเนื้อหลังการผ่าตัดมีการหลงเหลืออยู่ของโรค หรือมีการลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลือง
- การฉายรังสีเป็นการรักษาแบบประคับประคอง ในผู้ป่วยที่โรคแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ หรือในผู้ป่วยที่มีสภาพร่างกายไม่แข็งแรงพอที่จะได้รับการรักษาด้วยยาหรือผ่าตัด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาอาการจากโรค เช่น อาการปวด อาการอุดตันจากก้อน อาการเลือดออก เป็นต้น
ขั้นตอนการรักษาด้วยรังสี
ขั้นตอนการรักษาด้วยรังสี ประกอบด้วย
1. การจำลองการฉายรังสี
- ก่อนวันจำลองการฉายรังสี เจ้าหน้าที่จะซักประวัติ เช่น การแพ้ยาและอาหารทะเล และได้รับใบเจาะเลือดเพื่อตรวจการทำงานไต รวมทั้งคำแนะนำให้งดน้ำงดอาหาร ในกรณีที่จะมีการฉีดสารทึบรังสีในวันที่มาจำลองการฉายรังสี
- ในวันที่นัดมาจำลองการฉายรังสี เจ้าหน้าที่จะให้ผู้ป่วยเปลี่ยนชุด และอาจมีการเจาะเลือดหรือใส่สายน้ำเกลือสำหรับฉีดสารทึบรังสี ผู้ป่วยบางรายอาจต้องทำหน้ากากยึดตรึงเพื่อให้ศีรษะไม่ขยับในระหว่างการฉายรังสีทุกวัน จากนั้น นักรังสีการแพทย์จะทำการสแกนด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และขีดเส้นบนหน้ากากหรือลำตัวของผู้ป่วย
- หลังการจำลองการฉายรังสี 1-2 สัปดาห์ จะเริ่มฉายรังสี โดยฉายรังสีจำนวน 25-33 ครั้ง วันละ 1 ครั้ง ในวันจันทร์ถึงวันศุกร์ รวมระยะเวลาประมาณ 7 สัปดาห์
- การฉายรังสีแต่ละครั้ง ใช้เวลาประมาณ 10-15 นาที ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกอะไร ไม่เจ็บปวด เพียงนอนนิ่งๆ ในท่าเดิมเหมือนวันที่มาจำลองการฉายรังสี
- ในการการฉายรังสีแต่ละครั้ง นักรังสีการแพทย์จะตรวจสอบตำแหน่งของผู้ป่วยให้ตรงกับที่แพทย์ วางแผนไว้ แล้วจึงฉายรังสี ผู้ป่วยบางรายอาจได้รับคำแนะนำให้งดน้ำและอาหาร 3-4 ชั่วโมงก่อนมาฉายรังสีด้วย
- เมื่อฉายรังสีเสร็จ ผู้ป่วยสามารถเดินทางกลับบ้านได้ตามปกติ โดยทั่วไป ผู้ป่วยมักใช้ชีวิตได้ตามปกติ ไม่จำเป็นต้องลางาน เว้นแต่เดินทางมารพ.ไกล อาจจำเป็นต้องหาที่พักใกล้โรงพยาบาล หรือในกรณีที่มีผลข้างเคียงจากการรักษา แพทย์อาจพิจารณาให้นอนโรงพยาบาล
- ผู้ป่วยมะเร็งหลอดอาหารที่รับการรักษาในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จะได้รับการฉายรังสีด้วยเทคนิคปรับความเข้ม ได้แก่ intensity modulated radiation therapy (IMRT) หรือ volumetric modulated arc therapy (VMAT) ซึ่งสามารถให้รังสีอย่างแม่นยำไปที่ก้อนมะเร็ง และหลบหลีกอวัยวะใกล้เคียงให้ได้รับรังสีน้อยที่สุด
- การฉายอนุภาคโปรตอน เป็นการรักษาด้วยรังสีวิธีหนึ่ง ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด สามารถช่วยให้รังสีกระจายโดนอวัยวะอื่นๆลดลง
- บริเวณที่ได้รับการฉายรังสี คือตำแหน่งของรอยโรคในหลอดอาหารและบริเวณที่เสี่ยงต่อการลุกลามเฉพาะที่และต่อมน้ำเหลือง
- ในกรณีที่ผู้ป่วยต้องได้รับยาเคมีบำบัดร่วมด้วย อายุรแพทย์โรคมะเร็งจะพิจารณาชนิดของยาเคมีบำบัดที่เหมาะสมกับโรคและผู้ป่วย โดยมีหลายสูตร เช่น
- ผู้ป่วยมักได้รับยาเคมีบำบัดในระหว่างคอร์สการฉายรังสี และบางรายอาจได้รับยาเคมีบำบัดเสริม ภายหลังการฉายรังสีเสร็จสิ้นแล้วด้วย ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
- ยาเคมีบำบัดที่ใช้บ่อย ได้แก่
- ซิสพลาติน/ไฟว์เอฟยู (cisplatin/5-FU) ทุก 4 สัปดาห์ แบบนอนโรงพยาบาล
- คาร์โบพลาติน/พาคลิแท็กเซล (carboplatin/paclitaxel) ทุก 1 สัปดาห์ แบบไม่นอนโรงพยาบาล
- ฟอลฟอกซ์ (mFOLFOX) ทุก 2 สัปดาห์ แบบไม่นอนโรงพยาบาล
- กรณีฉายรังสีตามอวัยวะต่างๆ ที่มีการแพร่กระจายสามารถทำได้หลายแบบ ทั้งการฉายรังสีแบบ 2 มิติ, แบบ 3 มิติ, แบบปรับความเข้ม และการฉายรังสีร่วมพิกัด (stereotactic body radiation therapy (SBRT)) โดยมักฉายตั้งแต่ 1-10 ครั้ง
- ภายหลังการฉายรังสีและเคมีบำบัด แพทย์จะนัดส่องกล้องหลอดอาหารเพื่อประเมินว่ารอยโรคยุบดีหรือไม่ และอาจพิจารณาการผ่าตัดเพิ่มเติมต่อไป
ผลข้างเคียง
ในระหว่างการฉายรังสี 5-7 สัปดาห์ อาจมีผลข้างเคียงได้แก่ เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน อ่อนเพลีย เจ็บคอ กลืนลำบาก เม็ดเลือดต่ำลง บางรายต้องให้เลือดหรือสารประกอบของเลือด หรือฉีดยากระตุ้นเม็ดเลือด แพทย์จะนัดตรวจทุกสัปดาห์ระหว่างการฉายรังสี ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจเลือด และตรวจอาการ ตลอดจนประเมินสภาพร่างกายและการตอบสนองต่อการรักษา ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรได้รับการฉายรังสีอย่างต่อเนื่องและครบถ้วนตามปริมาณที่แพทย์ประเมินไว้ ไม่ควรหยุดกลางคันหากไม่จำเป็น
ภายหลังการฉายรังสี 2 เดือนขึ้นไป ผู้ป่วยบางรายอาจมีภาวะปอดอักเสบจากรังสี ซึ่งจะทำให้มีอาการไอแห้งๆ และสามารถหายเองได้ ในรายมีอาการเหนื่อย แพทย์อาจสั่งยาสเตียรอยด์เพื่อลดการอักเสบ ผลข้างเคียงระยะยาว อาจเกิดได้ตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไปหลังการฉายรังสี เช่น ภาวะพังผืดที่ปอด ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ภาวะหลอดอาหารตีบหรือแตกทะลุ อย่างไรก็ดีพบผลข้างเคียงรุนแรงเหล่านี้น้อยมาก
การดูแลตนเองขณะฉายรังสี
ในระหว่างการฉายรังสี ผู้ป่วยควรได้รับอาหารอย่างเหมาะสมและพักผ่อนให้เพียงพอ โดยสารอาหารที่ได้รับอาจรับประทานทางปากหรือทางสายยางให้อาหาร ผู้ป่วยควรรับประทานอาหารโปรตีนสูง เช่น เนื้อสัตว์ ไข่ นม และอาจเสริมด้วยนมหรืออาหารทางการแพทย์ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง เม็ดเลือดไม่ลดลง ปริมาณอาหารที่ควรได้รับต่อวัน คือ พลังงาน 30 กิโลแคลอรี่ ต่อน้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม ต่อวัน และโปรตีน 1-1.5 กรัม ต่อน้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม ต่อวัน เช่น ผู้ป่วยมีน้ำหนักตัว 50 กิโลกรัม ควรได้รับอาหารที่ให้พลังงาน 1500 กิโลแคลอรี่ และโปรตีน 50-75 กรัมต่อวัน เป็นต้น และพยายามอย่าให้น้ำหนักลด ทั้งนี้ผู้ป่วยควรเลิกการดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ตลอดชีวิตเพื่อผลการรักษาที่ดีและป้องกันไม่ให้เกิดมะเร็งอื่นๆตามมา
ภายหลังการฉายรังสีครบประมาณ 2-4 สัปดาห์ ร่างกายจะค่อยๆฟื้นฟูกลับสู่สภาวะปกติ อาการเจ็บคอ กลืนลำบากจะลดลง ผู้ป่วยสามารถออกกำลังกายเบาๆได้ และยังควรรับประทานอาหารในปริมาณที่เหมาะสมเช่นเดิม
การตรวจติดตาม
แพทย์จะนัดตรวจติดตามการรักษาเป็นระยะ ในช่วง 3 ปีแรก มักนัดตรวจทุก 3-4 เดือน ในปีที่ 3-5 ทุก 6 เดือน และหลังปีที่ 5 มักจะนัดติดตามปีละครั้ง การตรวจติดตามผลมีเป้าหมายเพื่อดูว่ามีการกำเริบของมะเร็งหรือไม่ และตรวจดูการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น รวมทั้งเพื่อเฝ้าระวังผลข้างเคียงระยะยาว โดยแพทย์จะใช้การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ การเจาะเลือด และการส่องกล้องทางเดินอาหารเป็นระยะๆ