ข้อมูล ณ วันที่ 1 พ.ค. 2566
ความรู้ทั่วไป
ในประเทศไทย มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับสองในเพศหญิง โดยมีการติดเชื้อเอชพีวีเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ
หลักการการรักษา
วิธีการรักษาขึ้นอยู่กับระยะของโรคและสภาพของผู้ป่วย โดยทั่วไปผู้ป่วยในระยะต้น จะได้รับการรักษาโดยการผ่าตัด และอาจมีการฉายรังสีหลังผ่าตัดในกรณีที่มีลักษณะบ่งชี้ว่าโรคมีโอกาสกลับเป็นซ้ำ ในขณะที่การฉายรังสี ร่วมกับให้ยาเคมีบำบัดและใส่แร่ เป็นการรักษาหลักในกรณีที่ผู้ป่วยที่ก้อนที่ขนาดใหญ่ มีการลุกลามไปยังเนื้อเยื่อข้างเคียง หรือมีต่อมน้ำเหลืองโต ในกรณีที่โรคมีการกระจายไปยังอวัยวะอื่น การให้ยาเคมีบำบัดถือเป็นการรักษาหลัก ในขณะที่การฉายรังสีจะมีบทบาทในการช่วยทุเลาอาการ เช่น อาการปวดจากก้อน เลือดออกจากก้อน เป็นต้น
การฉายรังสี
การฉายรังสีเป็นการให้เอกซเรย์พลังงานสูงเพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง โดยมีขั้นตอนดังต่อไปนี้
1. | การเตรียมตัวก่อนจำลองฉายรังสี |
2. | กรณีที่มีการฉีดสารทึบรังสี ผู้ป่วยต้องงดน้ำงดอาหารอย่างน้อย 4 ชั่วโมงก่อนการจำลองฉายรังสี |
3. | กรณีที่แพทย์ให้กลั้นปัสสาวะ ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการปัสสาวะก่อนมาจำลองฉายรังสีประมาณ 3-4 ชั่วโมง ข้อดีของการกลั้นปัสสาวะคือกระเพาะปัสสาวะที่โป่งออกจะดันลำไส้ส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องออกจากบริเวณที่ฉายรังสี ช่วยให้ผลข้างเคียงลดลง |
4. | การจำลองการฉายรังสี ผู้ป่วยจะได้รับการจัดท่าทางเสมือนวันฉายรังสีจริง หลังจากนั้นจะทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ แพทย์จะกำหนดจุดในการฉายรังสี และขีดเส้นบนตัวผู้ป่วย ซึ่งเส้นดังกล่าวใช้เพื่อเทียบตำแหน่งกับวันฉายจริง ดังนั้นจึงมีความสำคัญที่ผู้ป่วยต้องดูและไม่ให้เส้นเลือนหายไปก่อนวันเริ่มฉายรังสี ผู้ป่วยบางรายอาจมีการทำเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเพิ่มเติมเพื่อนำภาพดังกล่าวมาใช้วางแผนการรักษาร่วมกับภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หลังจากนั้นแพทย์จะนำภาพทั้งหมดไปใช้ในการวาดตำแหน่งของก้อนและอวัยวะข้างเคียง หลังจากนั้นนักฟิสิกส์จะคำนวณปริมาณรังสี เพื่อให้ก้อนมะเร็งได้รับปริมาณรังสีตามต้องการ และหลีกเลี่ยงรังสีไม่ให้โดนอวัยวะข้างเคียงอื่น ๆ |
5. | การฉายรังสี จำนวนครั้งของการฉายรังสีขึ้นกับสภาพร่ายกายผู้ป่วยและระยะของโรค โดยทั่วไปจะฉาย 25-28ครั้ง โดยฉาย 5 ครั้งต่อสัปดาห์ ครั้งละประมาณ 15 นาที แต่อาจลดลงเหลือ 1-10 ครั้งในกรณีที่มะเร็งมีการแพร่กระจายหลายจุด หรือผู้ป่วยติดเตียง |
6. | การใส่แร่ โดยทั่วไปจะมีการใส่แร่ 3-4 ครั้งในช่วง 2-3สัปดาห์สุดท้ายของการฉายรังสี โดยเริ่มจากการใส่เครื่องมือ หลังจากนั้นทำเอ็มอาร์ไอ ตามด้วยการกำหนดขอบเขตและรูปร่างของก้อนโดยรังสีแพทย์ และการคำนวณปริมาณรังสีโดยนักฟิสิกส์ ใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 2 ชั่วโมง โดยผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล และไม่มีรังสีติดตัวกลับบ้าน สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ตามปกติ |
ผลข้างเคียงจากการฉายรังสี
ผลที่เกิดขึ้นแตกต่างกันไปในแต่ละราย ขึ้นอยู่กับปริมาณรังสี หรือการรักษาอื่นร่วมด้วย ซึ่งผลข้างเคียงที่อาจเกิดได้ในระหว่างฉายรังสี ได้แก่ ปัสสาวะแสบขัด ท้องเสีย อ่อนเพลีย เม็ดเลือดต่ำลด ในระยะยาวอาจมีผลข้างเคียง ได้แก่ ปัสสาวะหรืออุจจาระเป็นเลือด ช่องคลอดตีบหรือแห้ง หมดประจำเดือนก่อนวัย
การตรวจติดตามระหว่างฉายรังสี
ระหว่างฉายรังสีจะมีการตรวจสัปดาห์ละครั้งเพื่อประเมินการตอบสนองและผลข้างเคียงจากการฉายรังสี ในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับยาเคมีบำบัดควบคู่กับการฉายแสง จะมีการให้ยาสัปดาห์ละครั้ง โดยจะมีการตรวจเลือดเพื่อประเมินเม็ดเลือดและการทำงานของไตทุกสัปดาห์ก่อนให้ยา
การดูแลตนเองระหว่างฉายรังสี
การดูแลตัวเองถือเป็นสิ่งสำคัญในการฉายรังสี ผู้ป่วยควรเลือกรับประทานอาหารให้เพียงพอครบทั้ง 5 หมู่ โดยเน้นอาหารที่มีโปรตีนสูง เลือกอาหารที่สะอาดและปรุงสุกเพื่อป้องกันการติดเชื้อ พักผ่อนให้เพียงพอ ผู้ที่ต้องกลั้นปัสสาวะก่อนฉายรังสีควรดื่มน้ำให้ระหว่างฉายรังสีรู้สึกปวดปัสสาวะใกล้เคียงกับวันจำลองฉายรังสีให้มากที่สุด หลังจากกฉายรังสีครบควรขยายช่องคลอดทุกวันเพื่อป้องกันลดโอกาสเกิดช่องคลอดตีบ