ข้อมูล ณ วันที่ 1 พ.ค. 2566
ความรู้ทั่วไป
มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกเป็นมะเร็งเกิดจากการเจริญเติบโตที่ผิดปกติของเซลล์ภายในมดลูก โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่ ความอ้วน ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนสูง อายุมาก การได้ฮอร์โมนทดแทน ยาบางชนิด พันธุกรรม ส่วนใหญ่วินิจฉัยได้ตั้งแต่ระยะแรก โดยผู้ป่วยมักมาด้วยอาการเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด
หลักการการรักษา
โดยทั่วไปหากโรคยังไม่มีการแพร่กระจาย การผ่าตัดถือเป็นการรักษาหลักในมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก หลังผ่าตัดแพทย์อาจพิจารณาให้การรักษาด้วยการฉายแสงหรือให้ยาเคมีบำบัดเพิ่มเติมตามระยะของโรคและสภาพร่ายกายของผู้ป่วย หากโรคมีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น การรักษาหลักจะเป็นการให้ยาเคมีบำบัด ส่วนการฉายรังสีจะมีบทบาทในการช่วยทุเลาอาการ เช่น อาการปวดจากก้อน อาการเลือดออกทางช่องคลอด เป็นต้น
การฉายรังสี
การฉายรังสีเป็นการให้เอกซเรย์พลังงานสูงเพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง โดยแบ่งออกเป็นสองวิธี ได้แก่
- การใส่แร่ การใส่แร่จะช่วยลดการกลับเป็นซ้ำบริเวณแผลผ่าตัดบริเวณช่องคลอด ซึ่งมีข้อดีคือ ใส่แร่เพียง 2-3 ครั้ง ปริมาณรังสีโดยอวัยวะข้างเคียงน้อย แต่วิธีนี้ไม่สามารถครอบคลุมต่อมน้ำเหลืองข้างเคียงได้ ดังนั้นจึงเหมาะกับผู้ป่วยระยะต้นที่มีความเสี่ยงของการกลับมาเป็นซ้ำต่ำ หรือใช้ร่วมกับการฉายรังสีจากภายนอกกรณีที่มีก้อนลุกลามไปยังปากมดลูก
- การฉายรังสีจากภายนอก การฉายรังสีจากภายนอกจะช่วยลดการกลับเป็นซ้ำทั้งบริเวณแผลผ่าตัดบริเวณช่องคลอด และต่อมน้ำเหลือข้างเคียง โดยแบ่งฉายทั้งหมด 25 ครั้ง 5 ครั้ง ต่อสัปดาห์ ครั้งละประมาณ 10-15โดยระหว่างฉายรังสีอาจมีการให้ยาเคมีบำบัดทุกสัปดาห์ควบคู่กันขี้นอยู่กับระยะของโรค
ผลข้างเคียงจากการฉายรังสี
ผลที่เกิดขึ้นแตกต่างกันไปในแต่ละราย ขึ้นอยู่กับปริมาณรังสี หรือการรักษาอื่นร่วมด้วย ซึ่งผลข้างเคียงที่อาจเกิดได้ในระหว่างฉายรังสี ได้แก่ ปัสสาวะแสบขัด ท้องเสีย อ่อนเพลีย เม็ดเลือดต่ำลด ในระยะยาวอาจมีผลข้างเคียง ได้แก่ ปัสสาวะหรืออุจจาระเป็นเลือด ช่องคลอดตีบหรือแห้ง
การตรวจติดตามระหว่างฉายรังสี
ระหว่างฉายรังสีจะมีการตรวจสัปดาห์ละครั้งเพื่อประเมินผลข้างเคียงจากการฉายรังสี ในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับยาเคมีบำบัดควบคู่กับการฉายแสง จะมีการให้ยาสัปดาห์ละครั้ง โดยจะมีการตรวจเลือดเพื่อประเมินเม็ดเลือดและการทำงานของไตทุกสัปดาห์ก่อนให้ยา
การดูแลตนเองระหว่างฉายรังสี
การดูแลตัวเองถือเป็นสิ่งสำคัญในการฉายรังสี ผู้ป่วยควรเลือกรับประทานอาหารให้เพียงพอครบทั้ง 5 หมู่ โดยเน้นอาหารที่มีโปรตีนสูง เลือกอาหารที่สะอาดและปรุงสุกเพื่อป้องกันการติดเชื้อในกรณีที่ได้ยาเคมีบำบัด พักผ่อนให้เพียงพอ ผู้ที่ต้องกลั้นปัสสาวะก่อนฉายรังสีควรดื่มน้ำให้ระหว่างฉายรังสีรู้สึกปวดปัสสาวะใกล้เคียงกับวันจำลองฉายรังสีให้มากที่สุด หลังจากกฉายรังสีครบควรขยายช่องคลอดทุกวันเพื่อป้องกันลดโอกาสเกิดช่องคลอดตีบ