โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นโรคมะเร็งที่พบได้บ่อยเป็นอันดับต้นๆในคนไทย และอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบัน การตรวจ คัดกรอง โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่อย่างสม่ำเสมอ และการตรวจหาความผิดปกติที่ลำไส้ได้ตั้งแต่ในระยะเริ่มแรก พบว่าสามารถลดอัตรา การเสียชีวิตจากโรคมะเร็งลำไส้ได้อย่างชัดเจน ดังนั้นบุคคลที่มีอายุมากกว่า 50 ปี และบุคคลที่มี พ่อ แม่ พี่ น้องลูกป่วยด้วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่จึงควรได้รับการส่องกล้อง ตรวจลำไส้ใหญ่อย่างสม่ำเสมอ
บุคคลที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่
- โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่พบได้ในทุกอายุ แต่อัตราเสี่ยงของการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ จะสูงขึ้นในผู้สูงอายุ โดยจะพบได้มากหลัง อายุ 50 ปี แต่โอกาสเกิดโรคจะมีการเพิ่มสูงขึ้นเป็นลำดับ หลังอายุ 40 ปี เป็นต้นไป
- บุคคลที่มีญาติใกล้ชิดเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่, หรือผู้ที่มีความเจ็บป่วยเรื้อรังของลำไส้บางอย่าง จะมีความเสี่ยงที่จะเป็น โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่สูงกว่าคนทั่วไป (Crohn’s disease และ Ulcerative colitis)
- ผู้ชายและผู้หญิงมีโอกาสเกิดใกล้เคียงกัน
- มีอาการท้องผูกเป็นประจำ
- ทานเนื้อสัตว์ จำนวนมาก
- ทานผักน้อย
- ไม่ออกกำลังกาย
- สูบบุหรี่ หรือดื่มสุรา
ความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ในกรณีที่มีญาติใกล้ชิดเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
- ถ้ามีพ่อ, แม่, พี่, น้องหรือลูก เป็นโรคนี้ 1 คน => จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 2-3 เท่า
- ถ้ามีพ่อ, แม่, พี่, น้องหรือลูก เป็นโรคนี้ 2 คน => จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 3-4 เท่า
- ถ้ามีพ่อ, แม่, พี่, น้องหรือลูก เป็นโรคนี้ โดยอายุของญาติที่เป็นโรคอายุน้อยกว่า 50 ปี => จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 3-4 เท่า
- ถ้ามีพ่อ, แม่, พี่, น้อง, ลูก มีเนื้องอกที่ลำไส้ 1 คน => จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 2 เท่า
- ถ้ามีปู่, ย่า, ตา, ยาย, ลุง, ป้า, น้า, อา เป็นโรคนี้ 1 คน => จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 1.5 เท่า
- ถ้ามีปู่, ย่า, ตา, ยาย, ลุง, ป้า, น้า, อา เป็นโรคนี้ 2 คน => จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 2-3 เท่า
อาการหลักของมะเร็งลำไส้ คือ
- ถ่ายอุจจาระมีมูกปน หรือมีเลือดออกทางทวารหนัก
- ปวดท้องบริเวณท้องน้อย (ปวดบิดๆ )
- ขนาดของอุจจาระที่ลีบลง (เนื่องจากก้อนเนื้อมะเร็งมีขนาดใหญ่จนไปอุดทางเดินของลำไส้ใหญ่)
- มีการถ่ายอุจจาระที่ผิดปกติเกิดขึ้น เช่น ท้องผูก ท้องเสียที่ไม่หายหลังได้รับการรักษา หรือมีท้องผูกสลับท้องเสีย
- อาการอื่นๆที่อาจจะพบได้คือ น้ำหนักลด เบื่ออาหาร
- สำหรับมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนต้นอาจตรวจพบว่ามีอาการซีด ซึ่งเกิดจากการเสียเลือดโดยที่ไม่มีเลือดออกในอุจจาระ ให้เห็นได้ด้วยตาเปล่า
- อาจคลำพบก้อนที่บริเวณท้องน้อยด้านขวา
- บางรายอาจมีอาการของลำไส้อุดตันซึ่งจะมีอาการปวดท้อง ท้องอืด อาเจียน และถ่ายอุจจาระ หรือผายลมลดลง
วิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่มีหลายวิธีดังนี้ (เริ่มต้นเมื่ออายุ 50 ปี)
- ตรวจอุจจาระหาเลือดที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า (Fecal Occult Blood Test) ปีละครั้ง
- การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) ทุก 5 ถึง 10 ปี
- การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย (Flexible sigmoidoscopy) ร่วมกับ การตรวจสวนแป้งลำไส้ใหญ่ (double contrast Barium enema) ทุก 5 ปี
- การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ด้วยภาพเสมือนจริง (Computed tomography colonoscopy) ทุก 5 ปี ทั้งนี้ ต้องทำในสถาบันที่มีเครื่องมือที่มีความละเอียด ซึ่งปัจจุบันสามารถตรวจพบเนื้องอกที่มีขนาดมากกว่า 9 มม. ได้มากกว่าร้อยละ 90
การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ที่ผิดปกติ
- การตรวจพบมะเร็งได้ตั้งแต่เริ่มแรกจะช่วยลดโอกาสการแพร่กระจายของโรคได้ และการรักษาก็ได้ผลดีกว่า
- มะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากติ่งเนื้อ (polyps) ซึ่งเป็นเซลล์เนื้อผิดปกติ ที่งอกจากผนังลำไส้ ซึ่งจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุ ติ่งเนื้องอก (polyps), จะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปเป็นเนื้อเยื่อที่ร้ายแรงมากขึ้น ถ้าทิ้งไว้นานขึ้น แต่ถ้าพบตั้งแต่ เนิ่นๆ และกำจัด ออกได้ก่อนก็จะหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงไปสู่การเป็นเนื้อร้ายได้
การตรวจเช็คลำไส้โดยการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy)
- การตรวจส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) เป็นวิธีการตรวจลำไส้ใหญ่ที่ละเอียดแม่นยำและแพทย์สามารถดำเนิน การรักษา หลายอย่างผ่านทางกล้องนี้ไปด้วยกันได้ เช่น การตัดติ่งเนื้องอกผิดปกติที่พบระหว่างทำการตรวจผ่านทางกล้อง, การสะกิด ชิ้นเนื้อเพื่อตรวจวิเคราะห์ดูผลทางพยาธิ, การหยุดเลือดที่ออกจากลำไส้ผ่านทางกล้อง
- การตรวจนี้สามารถป้องกันการเกิดมะเร็งได้ ด้วยการกำจัดติ่งเนื้องอก (polyps) อันเป็นจุดเริ่มของมะเร็งเป็นการตรวจ โดยที่แพทย์จะใช้กล้องพิเศษที่มีลักษณะเป็นท่อยาวเล็กๆ สอดผ่านทวารหนักเพื่อผ่านเข้าไปในลำไส้ใหญ่ ทำให้แพทย์สามารถเห็น รายละเอียดต่างๆ ตลอดทั้งลำไส้ใหญ่และลำไส้เล็กส่วนปลายได้
ญาติที่เป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ คุณควรรับการตรวจส่องกล้องลำไส้ใหญ่เมื่อไหร่?
1. ถ้ามีพ่อ, แม่, พี่, น้อง, ลูก เป็นโรคนี้ 1 คน, เมื่ออายุมากว่า 60 ปี
- เริ่มตรวจเมื่อคุณมีอายุ 40 ปีขึ้นไป
- ถ้าผลการส่องกล้องปกติ ควรส่องกล้องตรวจทุก 10 ปี
- ให้นับอายุของญาติที่เริ่มเป็นลบ 10 ปี แต่ไม่เกินอายุ 40 ปี เช่น "ญาติป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ เมื่ออายุ 60 ปี คุณควร รับการตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่ เมื่อคุณมีอายุ 50 ปี"
2. ถ้ามีพ่อ, แม่, พี่, น้อง, ลูก เป็นโรคนี้ 1 คน, เมื่ออายุน้อยกว่า 60 ปี
- ถ้าผลการส่องกล้องปกติคุณควรส่องกล้องตรวจทุก 5 ปี
- เริ่มตรวจเมื่อคุณมีอายุ 40 ปีขึ้นไป
3. ถ้ามีพ่อ, แม่, พี่, น้อง, ลูก เป็นโรคนี้มากกว่า 1 คน
- ถ้าผลการส่องกล้องปกติ ควรส่องกล้องตรวจทุก 10 ปี
- เริ่มตรวจเมื่อคุณมีอายุ 40 ปีขึ้นไป
4. ถ้ามีปู่, ย่า, ตา, ยาย, ลุง, ป้า, น้า, อา เป็นโรคนี้มากกว่า 1 คน
- ถ้าผลการส่องกล้องปกติ ควรส่องกล้องตรวจทุก 10 ปี
แนวทางการป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
- รับประทานอาหารที่มีกากใยสูงเช่น ผักและผลไม้ รวมไปถึงอาหารที่มีส่วนประกอบของไขมันต่ำจะช่วยลดการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้
- รับการตรวจคัดกรอง สามารถป้องกันการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้
- ในผู้ที่ไม่มีอาการและไม่มีปัจจัยเสี่ยงควรเริ่มต้นที่อายุ 50 ปี
- สำหรับผู้ที่มีประวัติมะเร็งลำไส้ใหญ่ในครอบครัว ควรเริ่มตรวจคัดกรองที่อายุ 40 ปีหรือที่ อายุ 5 ปี ก่อนอายุของคนในครอบครัวที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่
- ส่วนผู้ที่มีประวัติเป็นลำไส้อักเสบชนิด Crohn’s disease และ Ulcerative colitis หรือ ผู้ป่วย ที่มีติ่งเนื้องอกจำนวนมาก (Polyposis Coli) การตรวจอาจเริ่มในอายุที่เร็วขึ้นโดยสามารถปรึกษาแพทย์ได้