การแพร่กระจายของมะเร็งไปยังตับ (Liver Metastases)

การแพร่กระจายของมะเร็งไปยังตับ (Liver metastases) หรือมะเร็งตับทุติยภูมิ (Secondary Live Cancer)

ตับเป็นอวัยวะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในร่างกาย วางตัวอยู่ทางด้านล่างของปอดซีกขวา แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือตับกลีบขวาและตับกลีบซ้าย โดยประกอบขึ้นจากเซลล์ที่เรียกว่า hepatocytes

บทบาทหน้าที่หลักของตับ คือการดูดซึมสารอาหารจากกระแสเลือด เพื่อนำไปสร้างเป็นน้ำดี (Bile) เพื่อช่วยในการย่อยไขมัน และตับยังทำหน้าที่สะสมสารอาหารที่ดูดซึมมาจากลำไส้เล็ก ช่วยกำจัดของเสียที่เป็นพิษออกจากร่างกาย นอกจากนี้ตับยังมีหน้าที่ผลิตโปรตีนบางชนิดที่มีส่วนช่วยในการแข็งตัวของเลือดอีกด้วย

ข้อแตกต่างจากอวัยวะอื่นๆของตับคือ ตับได้รับเลือดจากสองแหล่ง กล่าวคือ แหล่งที่หนึ่งจากหลอดเลือดแดงของตับ (Hepatic artery) ซึ่งหล่อเลี้ยงตับด้วยเลือดที่อุดมด้วยออกซิเจน และแหล่งที่สองคือหลอดเลือดดำพอร์ทัล (Portal vein) ซึ่งอุดมไปด้วยสารอาหารที่ดูดซึมมาจากลำไส้แล้วนำไปยังตับ นอกจากนี้ตับยังมีความสามารถในการแบ่งเซลล์เพื่อสร้างตัวเองขึ้นมาใหม่ ภายในระยะเวลาไม่กี่สัปดาห์ แม้เซลล์ตับส่วนใหญ่จะถูกตัดหรือทำลายไปแล้ว

1. การแพร่กระจายของมะเร็งไปยังตับ (Liver metastases) 

หมายถึง เนื้อร้าย (มะเร็ง)ที่เกิดจากการแพร่กระจาย (metastasizes) จากส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายมายังตับ ซึ่งเซลล์มะเร็งที่แบ่งตัวออกมาจากมะเร็งต้นกำเนิด จะผ่านมาทางกระแสเลือดไปยังตับซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวกรองเลือด ทำให้เซลล์มะเร็งเหล่านี้ตกค้างติดอยู่ที่ตับ ก่อเกิดรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า มะเร็งระยะแพร่กระจายมายังตับ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแหล่งกำเนิดของมะเร็ง โดยที่การแพร่กระจายมายังตับนี้ อาจจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วหรือค่อยพัฒนาอย่างช้าๆ ในระยะเวลาหลายปี หลังจากการรักษามะเร็งต้นกำเนิดแล้วก็ได้

พบว่าการแพร่กระจายของมะเร็งไปยังตับ ส่วนใหญ่เกิดจากมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยร้อยละ 60-70 ของผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ มักจะพัฒนาต่อและกระจายไปยังตับในที่สุด

มะเร็งชนิดอื่นๆที่สามารถแพร่กระจายไปยังตับได้ เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งตับอ่อน มะเร็งปอด มะเร็งไต และมะเร็งผิวหนัง (Melanoma) เป็นต้น

ข้อมูลในประเทศสหรัฐอเมริกาและทวีปยุโรป พบว่าการแพร่กระจายของมะเร็งไปยังตับนั้น สามารถพบได้บ่อยกว่ามะเร็งตับชนิดปฐมภูมิ (Hepatocellular carcinoma) ซึ่งเป็นมะเร็งที่เกิดจากเซลล์ตับเองเสียอีก 
 

2.อาการแสดง (Symptoms)

ผู้ป่วยจำนวนมากที่มีภาวะการแพร่กระจายของมะเร็งไปยังตับ อาจไม่มีอาการใดเลย หรืออาจมีอาการที่ไม่เฉพาะเจาะจงแต่อย่างใด และหากเกิดอาการขึ้นอาจรวมถึง อาการดังต่อไปนี้

อ่อนเพลีย ไม่มีแรง 
เบื่ออาหาร 
น้ำหนักตัวลดลง 
มีไข้ 
ความเมื่อยล้า 
ตัวบวม 
คันตามร่างกาย 
อาการบวมแขนขา 
ปวดท้องหรือรู้สึกไม่สบาย 
ดีซ่าน (ตัวเหลือง ตาเหลือง)

3. การวินิจฉัยและการแบ่งระยะของโรค (Diagnosis & Staging)

มีการใช้ทั้งการทดสอบเลือด ภาพรังสีวินิจฉัย ตรวจชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยา หรือที่กล่าวมาแล้วควบคู่กันในการวินิจฉัยภาวะการแพร่กระจายของมะเร็งไปยังตับ ทั้งนี้เพื่อการแบ่งระยะของโรคเป็นหลัก

การวินิจฉัยโดยปกติจะเริ่มต้นด้วยการทดสอบเลือดอย่างง่ายเพื่อระบุถึงการมีอยู่ของมะเร็ง เรียกว่า สารบ่งชี้มะเร็ง (Tumor markers) (สารที่พบในปริมาณที่เพิ่มขึ้นในเลือดของผู้ที่มีโรคมะเร็งบางชนิด) เช่น CEA, หรือเพื่อระบุความผิดปกติของเอ็นไซม์ตับ ส่วนภาพถ่ายทางรังสีและการทดสอบอื่นๆ อาจใช้เพื่อยืนยันการวินิจฉัยถ้าระดับของสารบ่งมะเร็งมีความสูงผิดปกติ

4. ภาพทางรังสี (Imaging)

มีประโยชน์ในการให้รายละเอียดเกี่ยวกับก้อนมะเร็งเช่น ขนาดที่แน่ชัด และอาจช่วยทำนายการตอบสนองต่อการรักษาได้ เทคโนโลยีของภาพทางรังสี ยังช่วยให้ข้อมูลและรายละเอียดที่สำคัญแก่ศัลยแพทย์และแพทย์รังสีร่วมรักษา (Interventionist) ในระหว่างการรักษาได้ ตัวอย่างของภาพทางรังสี เช่น

- เครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scans) แสดงให้เห็นขอบเขตของการของมะเร็ง การแพร่กระจายเข้าสู่ต่อมน้ำเหลือง หรืออวัยวะอื่นๆได้
- ภาพสะท้อนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) แสดงรายละเอียดของอวัยวะและเนื้อเยื่อรอบข้างได้ดีกว่าเครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ แสดงให้เห็นขอบเขตของการเจริญเติบโตของเนื้องอกในตับ, อวัยวะรอบข้าง และหลอดเลือด รวมทั้งช่วยตรวจสอบว่าเนื้องอกนั้นเป็นมะเร็งหรือไม่ 
- อัลตราซาวด์ (Ultrasound) แสดงรายละเอียดด้านตำแหน่งและจำนวนของเนื้องอกที่พบในร่างกาย นอกจากนี้ยังสามารถช่วยแยกความแตกต่างของมะเร็งจากเนื้องอกธรรมดา (Benign tumor) ได้ 
- เพทสแกน (PET) บางครั้งใช้ร่วมกับภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เรียกว่า เพทซีที สแกน (PET/ CT scan) เพื่อค้นหาเซลล์มะเร็ง และระบุตำแหน่งที่แน่นอนของการแพร่กระจายมายังตับ ก่อนทำการตรวจ จะมีการฉีดสารเภสัชรังสีที่จับตัวอยู่กับโมเลกุลของน้ำตาลเข้าสู่หลอดเลือดดำ ทั้งนี้เซลล์มะเร็งซึ่งสามารถดูดซึมน้ำตาลได้อย่างรวดเร็วมากกว่าเซลล์ปกตินั้น จะเรืองแสงขึ้นในเพทสแกน

 

5. วิธีการวินิจฉัยอื่นๆ

- ตรวจชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยา (Biopsy) ใช้เทคนิคการตรวจที่เรียกว่า Fine-Needle Aspiration (FNA) เพื่อเก็บตัวอย่างของเนื้อเยื่อหรือของเหลวจากเนื้องอก โดยตัวอย่างของเนื้อเยื่อนี้จะถูกตรวจสอบภายใต้กล้องจุลทรรศน์โดยพยาธิแพทย์
- การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) แพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบบทางเดินอาหารจะใช้กล้องโทรทัศน์ที่มีลักษณะคล้ายท่อขนาดเล็กส่องผ่านทวารหนัก เพื่อเข้าไปตรวจดูลักษณะของเยื่อบุผิวจากทางด้านใน
- การตรวจด้วยลำกล้องผ่านหน้าท้อง (Laparoscopy) ศัลยแพทย์จะใช้กล้องโทรทัศน์ที่ลักษณะคล้ายท่อขนาดเล็กส่องผ่านแผลขนาดเล็กจากทางหน้าท้อง เพื่อตรวจดูตับและอวัยวะโดยรอบ นอกจากนี้ยังใช้เครื่องมือเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยาอีกด้วย การตรวจประเภทนี้สามารถใช้เพื่อหลีกเลี่ยงการผ่าตัดในผู้ป่วยบางรายได้

การตรวจทางพันธุกรรม (Genetic Testing of Tumors) พยาธิแพทย์จะทำการตรวจสอบตัวอย่างชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้องอก โดยการย้อมพิเศษ เพื่อที่จะพิสูจน์ลักษณะการกลายพันธุ์ของยีน KRAS และ BRAF โดยเนื้องอกที่มีการกลายพันธุ์เหล่านี้จะไม่ตอบสนองต่อการรักษา โดยมีชื่อเรียกว่า Epidermal Growth Factor Receptor (EGFR) Inhibitors นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาการตรวจคัดกรองการกลายพันธุ์ในยีนอื่นๆอีก เช่น PIK3CA และ NRAS ซึ่งจะช่วยปรับปรุงความสามารถในการรักษาได้มากขึ้นในอนาคต

6. การรักษา (Treatment)

ประกอบด้วยการรักษาที่หลากหลาย ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของมะเร็งปฐมภูมิ จำนวน ขนาดของมะเร็ง และสุขภาพโดยทั่วไปของผู้ป่วย

การผ่าตัด (Surgery)

การผ่าตัดมักใช้ร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัด ซึ่งนับเป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด สำหรับผู้ป่วยมะเร็งระยะแพร่กระจายไปยังตับจากโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่มีขนาดและจำนวนจำกัด โดยมีข้อมูลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าร้อยละ 50 ของผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดจากมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะแพร่กระจาย สามารถมีชีวิตรอดได้อย่างต่ำ 5 ปี และพบว่าส่วนใหญ่ของผู้ป่วยที่ปราศจากโรค 5 ปี ภายหลังจากการผ่าตัด สามารถหายขาดได้ (ไม่พบว่ามีการกลับเป็นซ้ำของมะเร็งมากกว่า 10 ปี ในภายหลังของผู้ป่วยเหล่านี้) แม้จะมีผลการรักษาที่ดี แต่การผ่าตัดตับจัดเป็นงานที่ท้าทาย กล่าวคือ ต้องมีทีมแพทย์ที่มีประสบการณ์ เพราะมีหลอดเลือดขนาดใหญ่พาดผ่านเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ตับสามารถฉีกขาดง่าย ทำให้เกิดการเสียเลือดจำนวนมากได้

- การผ่าตัดมะเร็งลำไส้ใหญ่พร้อมกับผ่าตัดมะเร็งระยะแพร่กระจายไปยังตับในคราวเดียวกันจะช่วยลดภาวะแทรกซ้อน และลดระยะเวลาพักฟื้นของผู้ป่วย ได้อย่างมีนัยสำคัญ
- เพื่อให้ผลการผ่าตัดดียิ่งขึ้น อาจมีการดำเนินขั้นตอนก่อนการผ่าตัดที่เรียกว่า Embolization ต่อหลอดเลือดดำพอร์ทัล โดยรังสีแพทย์ร่วมรักษา ขั้นตอนนี้จะใช้ประโยชน์จากคุณสมบัติพิเศษของตับที่สามารถแบ่งตัวได้ใหม่ (รวมทั้งหลอดเลือดที่เกี่ยวข้อง) และการที่มีเลือดมาเลี้ยงจากสองระบบ ตามที่กล่าวไปแล้ว 
- การผ่าตัดด้วยวิธี Liver-sparing surgical techniques เพื่อลดความจำเป็นของภาวะแทรกซ้อน เป็นวิธีที่ควรพิจารณาเป็นลำดับแรก

การผ่าตัดผ่านกล้อง (Laparoscopic Surgery)

การผ่าตัดโดยผ่านกล้อง ถือเป็นวิธีที่เจ็บปวด (Invasive) น้อยที่สุดในการผ่าตัดเอามะเร็ง ระยะแพร่กระจายไปยังตับออกมาจากร่างกาย โดยมีนัยสำคัญในการลดระยะเวลาการฟื้นตัว ภายหลังการผ่าตัดเทียบกับการผ่าตัดแบบดั้งเดิม ในวิธีการนี้ศัลยแพทย์จะใช้กล้องโทรทัศน์ที่มีลักษณะคล้ายท่อขนาดเล็กส่องผ่านแผลเล็ก ๆ ในช่องท้องของผู้ป่วย ลงไปเพื่อผ่าตัด

การใช้ภาพทางรังสีร่วมการรักษา (Image-Guided Therapies)

ผู้ป่วยจำนวนมากไม่สามารถผ่าตัดได้ เนื่องมาจากมะเร็งนั้นมีระยะของโรคที่สูงจนเกินไป การใช้ภาพทางรังสีร่วมการรักษา เช่น ภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ อัลตราซาวด์ ภาพเอ็กซเรย์ และภาพสะท้อนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เพื่อเป็นแนวทางในการรักษาไปยังก้อนมะเร็งโดยตรง ทั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการควบคุมมากกว่าการรักษาโรค นอกจากนี้การใช้ภาพทางรังสีร่วมการรักษา ยังสามารถนำมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการรักษาอื่น ๆได้ เช่น การผ่าตัด เป็นต้น

การใช้ภาพทางรังสีร่วมการรักษา เป็นการรักษาที่อาศัย การส่งผ่านวัตถุที่มีลักษณะคล้ายเข็ม (Needle) เข้าไปวางอยู่ในก้อนมะเร็งเพื่อให้ทำหน้าที่ทำลายเซลล์มะเร็ง (Ablation) หรือผ่านท่อที่ออกแบบมาเป็นพิเศษ (Catheter) เข้าไปในหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงก้อนมะเร็ง การใช้ภาพทางรังสีร่วมการรักษาอาจใช้เพียงลำพัง หรือใช้ร่วมกับการรักษาอื่นๆ หรือใช้เป็นการรักษานำก่อนที่จะมีการผ่าตัด หรือสุดท้ายอาจใช้ร่วมกับการให้เคมีบำบัด ซึ่งวิธีการรักษาดังกล่าวนี้แพทย์รักษาร่วมรักษาจะเป็นผู้ดำเนินการ แลสามารถทำได้ในผู้ป่วยนอก หรือผู้ป่วยในที่อยู่พักรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นระยะเวลาสั้นๆ เพราะการรักษาวิธีนี้นั้นกำหนดเป้าหมายโดยตรงกับมะเร็งเท่านั้น ในขณะที่ละเว้นเนื้อเยื่อตับส่วนที่ยังเป็นปกติดีไว้ได้

การทำลายเซลล์มะเร็งด้วยคลื่นความร้อนหรือความเย็นหรืออเบลชั่น (Thermal Ablation)

คือการใช้อุณหภูมิทั้งความร้อนและ/หรือความเย็นในการทำลายก้อนมะเร็ง ปัจจุบันนี้มี 3 รูปแบบ คือ คลื่นวิทยุ(Radiofrequency ablation) เป็นการใช้คลื่นวิทยุเพื่อให้เกิดความร้อนปริมาณสูงขึ้นในก้อนมะเร็ง คลื่นไมโครเวฟ(Microwave ablation) เป็นการใช้คลื่นไมโครเวฟเพื่อให้เกิดความร้อนขึ้นในก้อนมะเร็งและ Cryoablation เป็นการใช้อุณหภูมิความเย็นเพื่อแช่แข็งก้อนมะเร็งในทางปฏิบัติแพทย์ผู้รักษาจะเป็นผู้กำหนดความร้อนหรือความเย็น โดยขึ้นอยู่กับขนาด ตำแหน่งและรูปร่างของมะเร็ง เป็นหลัก

ในปัจจุบันความนิยมในการใช้วิธีการรักษาชนิดนี้มีเพิ่มมากขึ้น โดยอาจถูกใช้เพื่อลดความเสี่ยงของการกลับเป็นซ้ำสำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถผ่าตัดได้อย่างสมบูรณ์ นอกจากนี้อาจยืดระยะเวลาการรอดชีวิตสำหรับผู้ป่วยที่มีการกลับเป็นซ้ำในระยะแพร่กระจาย ที่เคยได้รับการผ่าตัดและได้รับยาเคมีบำบัดมาแล้ว ทั้งนี้

อเบลชั่น อาจถูกเลือกใช้ในกรณีที่การผ่าตัดดูจะหนักเกินไปสำหรับผู้ป่วย อเบลชั่น สามารถดำเนินการร่วมกับกับการรักษาอื่นๆได้ โดยรังสีแพทย์ร่วมรักษาเป็นผู้ดำเนินการ

Radioembolization Radioembolization

เพิ่งได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยา ในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่มีการแพร่กระจายไปยังตับ วิธีการคือ รังสีแพทย์ร่วมรักษา จะทำการใส่สายสวน (Catheter) ลงไปในหลอดเลือดแดงตับ (Hepatic artery) ซึ่งเลี้ยงก้อนมะเร็ง แล้วทำการฉีดสารทึบรังสีลงไปเพื่อระบุตำแหน่งของก้อนมะเร็ง หลังจากนั้นจะส่งสารกัมมันตรังสีแทรกลงสู่สายสวน เพื่อให้ปริมาณรังสีที่พอเหมาะต่อการรักษามะเร็ง โดยที่ไม่ทำอันตรายต่อเนื้อเยื่อตับปกติออกมา

เคมีบำบัด (Chemotherapy)

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีการใช้ยาเคมีบำบัดที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น oxaliplatin และ irinotecan ซึ่งได้มีส่วนในการปรับปรุงการรอดชีวิตของผู้ป่วยที่มีการแพร่กระจายของมะเร็งไปยังตับได้อย่างมีนัยสำคัญ การใช้ยาเคมีบำบัดสามารถลดความเสี่ยงของการกลับเป็นซ้ำ (Recurrence) ของมะเร็งภายหลังการผ่าตัดได้ (การรักษาแบบเสริม) และยังช่วยลดขนาดก้อน ก่อนผ่าตัด (Neoadjuvant)

Hepatic Arterial Infusion (HAI) Chemotherapy

เป็นเทคนิคการให้ยาเคมีบำบัดในปริมาณสูงเข้าสู่หลอดเลือดแดงตับ (Hepatic artery) ผ่านเครื่องปั๊มขนาดเล็กที่ฝังไว้ในชั้นใต้ผิวหนังของช่องท้อง ยาเคมีบำบัดเพิ่มเติมได้ฉีดเข้าไปในเครื่องสูบน้ำตามที่ต้องการบนพื้นฐานผู้ป่วยนอก โดยสามารถให้การรักษาแบบผู้ป่วยนอกได้ HAI เคมีบำบัด อาจให้เพียงลำพัง หรือใช้ร่วมกับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดแบบดังเดิม เพื่อเป็นการรักษาเสริม หรือ Neoadjuvant พบว่า HAI เคมีบำบัด ช่วยยืดการรอดชีวิตได้ในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัด นอกจากนี้ยังเกิดผลข้างเคียงน้อยกว่าการให้ยาเคมีบำบัดแบบดั้งเดิม

เคมีบำบัดเปรียบเสมือนสะพานที่จะนำไปสู่การผ่าตัด (Chemotherapy as a Bridge to Surgery)

ด้วยความนิยมที่มากขึ้นต่อการใช้ยาเคมีบำบัดเพื่อให้ก้อนมะเร็งยุบขนาดลงส่งผลให้มีผู้ป่วยที่เบื้องต้นไม่สามารถผ่าตัดได้ กลายเป็นผ่าตัดได้มีมากขึ้นดังนั้นการใช้ยาเคมีบำบัดจึงเปรียบเสมือนสะพานที่จะนำไปสู่การผ่าตัดในผู้ป่วยที่มีการแพร่กระจายของมะเร็งไปยังตับจากมะเร็งลำไส้ใหญ่

การพัฒนายาเคมีบำบัดสูตรใหม่ (Investigational Approaches to Chemotherapy)

มีการพัฒนายาเคมีบำบัดใหม่ ๆ ที่อาจช่วยปรับปรุงมาตรฐานการดูแลผู้ป่วยที่มีมะเร็งระยะแพร่กระจายไปยังตับเหล่านี้

ผลข้างเคียงโดยทั่วไป เช่น ความเมื่อยล้า คลื่นไส้ และท้องเสีย สามารถเกิดขึ้นได้จากยาเคมีบำบัดใด ๆ แต่ผลข้างเคียงอาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล

ชีวภาพบำบัด (Biologic Therapies)

ข้อแตกต่างจากยาเคมีบำบัดคือ ชีวภาพบำบัดจะทำลายทั้งเซลล์มะเร็งและเซลล์ปกติ การรักษาด้วยวิธีการทางชีวภาพมีเป้าหมายในการต่อสู้กับโรคมะเร็งโดยการหยุดการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งและ/หรือการรบกวนระบบเลือดที่มาหล่อเลี้ยงก้อนมะเร็ง การบำบัดทางชีวภาพขณะนี้ใช้ร่วมกับยาเคมีบำบัดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา การบำบัดทางชีวภาพรวมถึง:

Anti-Angiogenesis Therapy

ยาเหล่านี้ใช้ร่วมกับยาเคมีบำบัดเพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของหลอดเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงก้อนมะเร็งตัวอย่างเช่น bevacuzimab (Avastin®) ซึ่งอาจได้รับก่อนหรือภายหลังการผ่าตัดก็ได้

Epidermal Growth Factor Receptor (EGFR) Inhibitors

ยาเหล่านี้ยับยั้ง Epidermal growth factor receptor ซึ่งเป็นโปรตีนที่อาจนำไปสู่การลุกลามของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ตัวอย่างยา เช่น cetuximab หรือ panitumumab ซึ่งยาเหล่านี้ไม่ได้มีประสิทธิภาพสำหรับผู้ป่วยที่มีการกลายพันธุ์ของยีนที่เรียกว่าKRAS

รังสีรักษา (Radiation Therapy)

การรักษาด้วยการฉายรังสี ควรพิจารณาใช้ในกรณีที่ไม่สามารถผ่าตัดออกหรือมะเร็งมีขนาดใหญ่เกินไปจนไม่สามารถรักษาด้วยวิธีการอเบลชั่น (Ablation) ได้

เทคนิคที่กำลังเป็นที่นิยมในขณะนี้ คือ Intensity-Modulated Radiation Therapy (IMRT) เป็นการใช้คอมพิวเตอร์ซอฟแวร์ที่มีความสลับซับซ้อน ร่วมกับภาพ 3 มิติ โดยลำรังสีจะมุ่งตรงไปยังก้อนมะเร็งด้วยความแม่นยำสูงกว่าการรักษาด้วยการฉายรังสีแบบดั้งเดิม

อีกวิธีการที่เรียกว่า stereotactic body radiation therapy เป็นการใช้รังสีปริมาณสูงรักษาก้อนมะเร็งในพื้นที่ขนาดที่เล็กลงกว่าปกติ

เนื่องจากมะเร็งและอวัยวะในช่องท้อง สามารถเคลื่อนที่ตามการหายใจได้ ทำให้การกำหนดความแม่นยำของการฉายรังสีไปยังเนื้อเยื่อมะเร็งอาจเป็นเรื่องยาก จึงมีการพัฒนาวิธีการที่เรียกว่า Respiratory gating ซึ่งเป็นการบริหารจัดการเทคนิคการส่งรังสีไปเฉพาะจุดที่ต้องการ ในระหว่างรอบการหายใจของผู้ป่วย หรือบางกรณีมีการใช้เทคนิคที่เรียกว่า การบีบอัดช่องท้อง (abdominal compression) ซึ่งใช้สายพานที่ออกแบบมาเป็นพิเศษ เพื่อใช้แรงกดดันลงบนหน้าท้อง เพื่อช่วยลดการเคลื่อนไหวในระหว่างการรักษามะเร็ง

7. ทีมสหสาขาวิชาชีพ (Team of Experts)

ประกอบด้วยทีมพยาบาลผู้ชำนาญในการดูแลผู้ป่วยที่มีมะเร็งระยะแพร่กระจายไปยังตับ ทั้งระบบผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยที่พักรักษาตัวในโรงพยาบาล พยาบาลมีบทบาทสำคัญในฐานะผู้ประสานงานระหว่างผู้ป่วยและแพทย์ และประสานต่อไปยังหน่วยงานด้านอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เช่น งานเภสัชกรรม งานโภชนาการ งานสังคมสงเคราะห์ นอกจากนี้ พยาบาลช่วยให้ผู้ป่วยเข้าใจแผนการรักษาของผู้ป่วยแต่ละราย รวมถึงสิ่งที่ผู้ป่วยคาดหวังจากการรักษา และท้ายที่สุดพยาบาลยังทำหน้าที่ให้คำแนะและสุขศึกษาแก่ผู้ป่วยและครอบครัวอีกด้วย

ทีมแพทย์ที่มีบทบาทในการดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะแพร่กระจายไปยังตับ ประกอบด้วย

- ศัลยศาสตร์(Surgery) ที่เชี่ยวชาญเทคนิคการผ่าตัดอันทันสมัย ซึ่งคุกคามต่อสุขภาพโดยรวมน้อยที่สุด ลดเวลาในการฟื้นตัวและความเจ็บปวด
- อายุรศาสตร์โรคมะเร็ง (Medical Oncology) ที่ผ่านการอบรมในวิชาการด้านโมเลกุลวิทยา และเชี่ยวชาญต่อการให้ยาเคมีบำบัด 
- รังสีร่วมรักษา (Interventional Radiology) 
- รังสีรักษา (Radiation Oncology) 
- อายุรแพทย์ ระบบทางเดินอาหาร (Gastroenterology)