“มะเร็ง” คืออะไร
มะเร็ง (Cancer) คือ กลุ่มของโรคที่เกิดเนื่องจากเซลล์ของร่างกายมีความผิดปกติที่สารพันธุกรรม ส่งผลให้เซลล์มีการเจริญเติบโต และมีการแบ่งตัวเพื่อเพิ่มจำนวนเซลล์อย่างรวดเร็ว และมากกว่าปกติ ทำให้เกิดก้อนเนื้อผิดปกติขึ้นถ้าเซลล์พวกนี้เกิดอยู่ในอวัยวะใดก็จะเรียกชื่อ มะเร็ง ตามอวัยวะนั้นเช่น มะเร็งปอด มะเร็งสมอง มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง และมะเร็งผิวหนัง เป็นต้น มะเร็งแต่ละชนิดจะมีการดำเนินของโรคไม่เหมือนกัน ดังนั้นการรักษามะเร็งแต่ละชนิดจึงมีวิธีการรักษาที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอวัยวะที่เป็นมะเร็ง ระยะของ มะเร็ง และสภาพร่างกายของผู้ป่วย
“มะเร็งระยะลุกลาม” คืออะไร
มะเร็งระยะลุกลาม (Advanced cancer) หมายถึง มะเร็งที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ซึ่งจะแตกต่างกับมะเร็งระยะแพร่กระจาย (Metastatic cancer) เนื่องจากมะเร็งระยะลุกลามไม่จำเป็นต้องมีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นเสมอไป ยกตัวอย่างเช่น มะเร็งสมองบางชนิดที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ จัดเป็นมะเร็งระยะลุกลามแม้ยังไม่มีการแพร่กระจายก็ตาม ในทำนองเดียวกัน มะเร็งระยะแพร่กระจายก็ไม่จำเป็นต้องเป็นมะเร็งระยะลุกลามเช่น มะเร็งของอัณฑะ แม้ว่าจะมีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นแล้ว แต่ก็ยังมีวิธีรักษาได้
“มะเร็งระยะลุกลามไม่ใช่จุดจบของชีวิตเพราะยังมีการรักษาเพื่อบรรเทาความทรมานและเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย กรุณาปรึกษาแพทย์ของท่านเพื่อให้ได้รับการดูแลที่เหมาะสมและอย่าพึ่งท้อแท้” การดูแลแบบประคับประคอง
ส่วนมะเร็งระยะลุกลามเฉพาะที่ (Locally advanced cancer) นั้น หมายถึง มะเร็งที่มีการเจริญเติบโตออกไปนอกอวัยวะนั้นๆ แล้ว แต่ยังไม่มีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นในร่างกาย มะเร็งส่วนใหญ่ในระยะนี้มักสามารถรักษาให้หายได้ เช่น มะเร็งต่อมลูกหมาก แต่ในมะเร็งบางชนิด แม้ว่าจะอยู่ในระยะลุกลามเฉพาะที่ แต่จัดว่าเป็นมะเร็งระยะลุกลามเช่นกัน หากไม่สามารถรักษาให้หายได้ เช่น มะเร็งตับอ่อน เป็นต้น
ผู้ป่วยบางรายอาจพบว่าตนเองเป็นมะเร็งระยะลุกลามในครั้งแรกที่ทราบว่าตนเองเป็นมะเร็ง แต่บางรายอาจพบว่าตนเองเป็นมะเร็งระยะลุกลามหลังจากได้รับการรักษามานานแล้ว ซึ่งโดยส่วนใหญ่ มะเร็งระยะลุกลามมักเกิดขึ้นภายหลังจากที่เป็นมะเร็งแล้วระยะหนึ่ง และการรักษาที่ได้รับไม่สามารถหยุดยั้งการเจริญของมะเร็งได้อีกต่อไป อาการของผู้ป่วยเหล่านี้มักแย่ลงและจำเป็นต้องได้รับการรักษา โดยอาการที่มักพบบ่อยได้แก่ อาการอ่อนเพลีย น้ำหนักลด อาการปวด เช่น ปวดกระดูกจากการแพร่กระจายของมะเร็งไปยังกระดูก ปวดท้องจากการแพร่กระจายของมะเร็งไปยังตับและอาการเหนื่อยหอบจากการแพร่กระจายของมะเร็งไปยังปอด เป็นต้น
ผู้ป่วยที่มีอาการต่างๆ เหล่านี้ควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายและตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติมเพื่อค้นหาสาเหตุของอาการต่างๆ อันจะนำไปสู่การดูแลรักษาอย่างถูกต้องและเหมาะสม การตรวจทางห้องปฏิบัติการบอกถึงการแพร่กระจายของมะเร็งไปยังอวัยวะต่างๆได้ ยกตัวอย่างเช่น หากตรวจพบความผิดปกติในการทำงานของตับแสดงว่าอาจมีการแพร่กระจายของมะเร็งไปยังตับแล้ว นอกจากนี้ยังมีการตรวจพิเศษที่เฉพาะเจาะจงกับมะเร็งแต่ละชนิดด้วยเรียกว่า Tumor marker เช่น PSA (Prostate-specific antigen) สำหรับมะเร็งต่อมลูกหมาก และ CEA (Carcinoembryonic antigen) สำหรับมะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นต้น ส่วนการตรวจด้วยภาพถ่ายทางรังสีวินิจฉัยนั้นใช้เพื่อดูอวัยวะต่างๆที่สงสัยว่าอาจมีการแพร่กระจายของมะเร็ง เช่น
ภาพเอ็กซเรย์ปอด (Chest x-ray)
ภาพเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computer tomography, CT scan) ซึ่งจะทำให้เห็นภาพตัดขวางของอวัยวะต่างๆ ได้ชัดเจนกว่าภาพเอ็กซเรย์ธรรมดา อีกทั้งยังมีประโยชน์ในแง่ของการตรวจเพิ่มเติมและการรักษาด้วย เช่น ใช้กำหนดตำแหน่งในการเจาะชิ้นเนื้อไปตรวจ โดยการตรวจด้วย CT scan จะใช้เวลาประมาณ 15-30 นาที ซึ่งนานกว่าการถ่ายภาพเอ็กซเรย์ธรรมดา และบางครั้งอาจต้องมีการฉีดหรือรับประทานสารทึบรังสี (Contrast media) ด้วยเพื่อเพิ่มความแม่นยำในการตรวจ อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการไม่พึงประสงค์จากสารทึบรังสีได้ เช่น ร้อนวูบวาบผื่นลมพิษ หายใจไม่สะดวก ความดันต่ำ
ภาพถ่ายคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Resonance Imaging, MRI scan) เป็นการตรวจโดยส่งผ่านคลื่นวิทยุเข้าไปในร่างกายแล้วรับสัญญาณที่ออกมาแทนการใช้รังสีเอ็กซ์ ซึ่งทำให้เห็นรายละเอียดของเนื้อเยื่อและอวัยวะต่างๆได้ดี โดยเฉพาะสมองและไขสันหลัง ซึ่งอาจต้องมีการฉีดสารทึบรังสีเช่นเดียวกับการตรวจ CT scanข้างต้น แต่จะใช้ระยะเวลาในการตรวจนานกว่า CT scan
การตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Ultrasound) นิยมใช้เป็นการตรวจเบื้องต้น เนื่องจากสามารถทำได้ง่าย และไม่ต้องใช้รังสีเอ็กซ์ จึงไม่มีข้อห้ามในการตรวจ
การตรวจเพทสแกน (Positron emission tomography,PET scan) เป็นการตรวจโดยฉีดสารเภสัชรังสีเข้าไปในร่างกายแล้วใช้กล้องชนิดพิเศษเพื่อตรวจวัดปริมาณรังสี ซึ่งปริมาณรังสีจะสูงในบริเวณที่เซลล์มีการทำงานมากหรือมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว เช่นมะเร็ง ดังนั้นจึงใช้ในการตรวจหามะเร็งได้ทั่วร่างกาย ในปัจจุบันได้มีการนำมาใช้ร่วมกับ CT scan ด้วย เพื่อให้เห็นรายละเอียดของอวัยวะต่างๆได้ชัดเจนขึ้น เรียกว่า PET/CT scan
ภาพสแกนกระดูก (Bone scan) เป็นการตรวจหาการแพร่กระจายของมะเร็งไปยังกระดูก โดยฉีดสารเภสัช-รังสี เข้าเส้นเลือดแล้วตรวจวัดปริมาณรังสีเช่นเดียวกับการตรวจ PET scan ข้อดีของ Bone scan คือ สามารถตรวจพบการกระจายของมะเร็งไปยังกระดูกได้เร็วกว่าภาพถ่ายเอกซเรย์ธรรมดา ความผิดปกติที่พบคือ บริเวณที่มีปริมาณรังสีสูงผิดปกติ อาจเป็นตำแหน่งของก้อนมะเร็ง หรืออาจเกิดจากการอักเสบของข้อ หรือโรคของกระดูกเองก็ได้ จึงอาจต้องอาศัยการตรวจวินิจฉัยอื่นเพิ่มเติมในกรณีที่สงสัยภาวะดังกล่าว แต่ในกรณีที่มีการทำลายของกระดูกจากมะเร็งจนหมดแล้ว อาจทำให้ไม่พบลักษณะการเพิ่มขึ้นของปริมาณรังสีได้ ทำให้การแปลผลผิดพลาด
เมื่อพบความผิดปกติจากการตรวจร่างกาย การตรวจทางห้องปฏิบัติการ และจากภาพถ่ายรังสีแล้วยังจำเป็นต้องมีการตรวจทางพยาธิวิทยาเพื่อยืนยันว่ามีเซลล์มะเร็งอยู่ในบริเวณนั้นจริงหรือไม่ โดยแพทย์จะทำการตัดชิ้นเนื้อ ขนาดเล็กๆจากบริเวณรอยโรคที่สงสัยว่าผิดปกติออกมาตรวจสอบเพิ่มเติม
อย่างไรก็ดี มะเร็งระยะลุกลามสามารถรักษาได้แม้จะไม่หายขาด แต่การรักษาจะช่วยให้ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กลงช่วยบรรเทาอาการอันเกิดจากมะเร็ง รวมทั้งอาจช่วยยืดชีวิตของผู้ป่วยได้ด้วย ผู้ป่วยมะเร็งระยะลุกลามบางรายสามารถมีชีวิตอยู่ได้นานหลายปี ทั้งนี้เนื่องจากผู้ป่วยโรคมะเร็งแต่ละคนมีการตอบสนองต่อการรักษาแตกต่างกัน อีกทั้งมะเร็งแต่ละชนิดก็มีการเจริญเติบโตในอัตราที่ต่างกันออกไปด้วย
“มะเร็งระยะแพร่กระจาย” คืออะไร
มะเร็งระยะแพร่กระจาย (Metastatic cancer) หมายถึง มะเร็งที่มีการแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นในร่างกายรวมทั้งต่อมน้ำเหลืองในบริเวณที่ไกลจากมะเร็งปฐมภูมิ ซึ่งเซลล์มะเร็งมักไปยังส่วนอื่นทางกระแสเลือด หรือทางเดินน้ำเหลืองที่มีอยู่ทั่วร่างกาย โดยมะเร็งที่สามารถแพร่กระจายได้นั้น จำเป็นต้องมีคุณสมบัติสำคัญคือ การออกจากก้อนมะเร็งปฐมภูมิและเข้าสู่กระแสเลือดหรือทางเดินน้ำเหลืองเพื่อไปยังส่วนต่างๆของร่างกาย จากนั้นเซลล์มะเร็งจะแนบติดกับผนังของหลอดเลือดหรือท่อน้ำเหลืองเพื่อผ่านไปยังอวัยวะอื่น ซึ่งเป็นที่ที่มะเร็งจะเจริญเติบโตขึ้นได้ในที่สุดจึงได้มีความพยายามคิดค้นวิธีที่จะยับยั้งกระบวนการเติบโตและแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งเหล่านี้ขึ้น เช่น การผลิตยาเพื่อป้องกันการกระจายของเซลล์มะเร็งเข้าสู่กระแสเลือด และยาเพื่อป้องกันการสร้างเส้นเลือดใหม่ที่เข้าไปเลี้ยงเซลล์มะเร็งเป็นต้น คุณสมบัติที่จำเป็นอีกอย่างหนึ่งสำหรับเซลล์มะเร็งได้แก่การหลบหลีกจากการถูกทำลายโดยระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ดังนั้นจะเห็นได้ว่าเซลล์มะเร็งได้มีการปรับตัวอย่างมากมายเพื่อการอยู่รอดในร่างกาย จึงมักเป็นเหตุให้การรักษามะเร็งในระยะนี้เป็นไปด้วยความยากลำบาก ความเชื่อที่ว่าหากงดอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งแล้วจะทำให้เซลล์มะเร็งไม่เจริญเติบโตเป็นความเท็จ เพราะเซลล์มะเร็งมีความสามารถพิเศษที่จะเติบโตได้ในสภาวะแวดล้อมที่จำกัดอยู่แล้วดังนั้นผู้ป่วยควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ตลอดจนทำจิตใจให้แจ่มใส
อวัยวะที่มักพบการแพร่กระจายของมะเร็ง ได้แก่ ปอด กระดูก ตับ และสมอง ซึ่งมะเร็งแต่ละชนิดมักมีลักษณะของการแพร่กระจายแตกต่างกันออกไป จากการศึกษาพบว่ามีสารพันธุกรรมหรือสารบางอย่างบนผิวของเซลล์มะเร็งที่เป็นตัวกำหนดว่าเซลล์มะเร็งนั้นจะแพร่กระจายไปยังอวัยวะใด เช่น มะเร็งปอดมักแพร่กระจายไปที่สมองหรือกระดูกมะเร็งลำไส้ใหญ่มักแพร่กระจายไปที่ตับ มะเร็งต่อมลูกหมากมักแพร่กระจายไปที่กระดูก และมะเร็งเต้านมมักแพร่กระจายไปที่กระดูก ปอด ตับ และสมอง เป็นต้น ในปัจจุบันจึงได้มีการวิจัยจำนวนมากมุ่งเน้นไปที่การยับยั้งการเปลี่ยนแปลงของสารพันธุกรรมดังกล่าวเพื่อป้องการการเจริญเติบโตและแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง สำหรับมะเร็งเม็ดเลือด เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia, Multiple myeloma) และมะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma) นั้น เนื่องจากเม็ดเลือดสามารถเดินทางไปได้ทั่วร่างกาย จึงสามารถพบเซลล์มะเร็งได้ทุกที่ แต่มะเร็งกลุ่มนี้ก็ไม่จัดเป็นมะเร็งระยะแพร่กระจายแต่อย่างใด
การเรียกชื่อของมะเร็งที่มีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆนั้น จะเรียกตามชื่อของมะเร็งปฐมภูมิ หรือมะเร็งที่เป็นจุดเริ่มต้น เช่น มะเร็งต่อมลูกหมากที่มีการแพร่กระจายไปยังกระดูก ก็ยังคงเรียกว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากไม่ใช่มะเร็งกระดูก เนื่องจากลักษณะของเซลล์เป็นเซลล์จากต่อมลูกหมาก ในทำนองเดียวกัน มะเร็งเต้านมที่มีการแพร่กระจายไปยังปอด ก็เรียกว่ามะเร็งเต้านม ไม่ใช่มะเร็งปอด เป็นต้น ซึ่งการแยกระหว่างมะเร็งปฐมภูมิกับมะเร็งที่แพร่กระจายมานั้น ทำได้โดยการตัดชิ้นเนื้อที่สงสัยไปตรวจทางพยาธิวิทยา เพื่อให้ทราบว่าต้นกำเนิดของมะเร็งมาจากอวัยวะใด มะเร็งระยะแพร่กระจายอาจตรวจพบพร้อมกัน หรือหลังจากมะเร็งปฐมภูมินานเท่าไรก็ได้ และในบางครั้งก็อาจตรวจพบมะเร็งที่แพร่กระจายไปยังอวัยวะต่างๆ โดยไม่ทราบว่าอวัยวะใดเป็นต้นกำเนิดที่เรียกว่า Cancer of Unknown Origin
ผู้ป่วยบางรายที่เป็นมะเร็งระยะแพร่กระจายอาจไม่แสดงอาการใดๆ แต่พบโดยบังเอิญจากการตรวจภาพถ่ายรังสีหรือการตรวจเลือด ในกรณีที่มีอาการจากมะเร็งระยะแพร่กระจาย อาการมักขึ้นอยู่กับขนาดและตำแหน่งที่มีการแพร่กระจาย เช่น มะเร็งที่มีการแพร่กระจายไปยังกระดูกมักทำให้มีอาการปวดและกระดูกหัก มะเร็งที่มีการแพร่กระจายไปยังสมองอาจทำให้มีอาการปวดศีรษะ ชัก หรือมึนงง มะเร็งที่มีการแพร่กระจายไปยังปอดอาจทำให้มีอาการหายใจลำบาก มะเร็งที่มีการแพร่กระจายไปยังตับ อาจทำให้มีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง ท้องบวมได้ เป็นต้น
การรักษามะเร็งระยะแพร่กระจายสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การรักษาด้วยยาเคมีบำบัด การฉายแสง การรักษาทางชีวภาพ การรักษาด้วยฮอร์โมน การผ่าตัด และการผ่าตัดโดยใช้ความเย็น (Cryosurgery) หรือใช้หลายวิธีร่วมกันขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็ง ขนาด และตำแหน่งที่มีการแพร่กระจาย นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงอายุ สภาพร่างกาย การรักษาที่เคยได้รับ และความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละรายด้วย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมการเจริญเติบโตของมะเร็ง และเพื่อบรรเทาอาการอันเนื่องมาจากมะเร็ง โดยให้เกิดผลข้างเคียงจากการรักษาน้อยที่สุด เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย
ตารางแสดงตัวอย่างของการแพร่กระจายของมะเร็งแต่ละชนิด
ชนิดของมะเร็ง
|
อวัยวะที่มักมีการแพร่กระจาย
|
มะเร็งสมอง | พบการแพร่กระจายนอกสมองน้อย อาจพบในไขสันหลังได้ |
มะเร็งเต้านม | กระดูก ตับ ปอด สมอง ลูกตา ผิวหนังบริเวณหน้าอก |
มะเร็งหลอดอาหาร | อวัยวะใกล้เคียง ปอด ตับ ต่อมน้ำเหลืองในช่องท้อง |
มะเร็งกระเพาะอาหาร | กระจายทั่วช่องท้อง ตับ ปอด (พบน้อย) สมองและกระดูก |
มะเร็งลำไส้ใหญ่ | ตับ กระดูก ปอด (พบน้อย) สมอง |
มะเร็งลำไส้ตรง | อวัยวะในอุ้งเชิงกราน ปอด สมอง กระดูก |
มะเร็งตับ | มักเจริญเติบโตอยู่ในเนื้อตับเอง |
มะเร็งปอด | ต่อมหมวกไต ตับ กระดูก สมอง ปอดข้างเดียวกันหรือ อีกด้าน เยื่อบุหัวใจ |
มะเร็งตับอ่อน | กระจายทั่วช่องท้อง ตับ ปอด สมอง |
มะเร็งเม็ดสีของผิวหนัง | ต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียง สมอง ปอด ตับ กระดูก |
มะเร็งบริเวณปากและลำคอ | ปอด |
มะเร็งเม็ดเลือดขาว | มีการกระจายทั่วร่างกายอยู่แล้ว อาจพบในไขกระดูก ผิวหนัง |
มะเร็งเม็ดเลือดขาว ชนิด Multiple myeloma |
กระดูก |
มะเร็งต่อมน้ำเหลือง | มักอยู่ในต่อมน้ำเหลือง ม้าม และไขกระดูก อาจพบการ แพร่กระจายไปยังสมอง และกระเพาะอาหาร บางกรณีอาจ พบการแพร่กระจายตามน้ำหล่อเลี้ยงไขสันหลังได้ เรียกว่า Lymphomatous menignitis |
มะเร็งรังไข่ | กระจายทั่วช่องท้อง ปอด ตับ (พบน้อย) สมองและผิวหนัง |
มะเร็งต่อมลูกหมาก | กระดูก สมอง |
มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ | อวัยวะในอุ้งเชิงกราน ปอด ตับ กระดูก |
การป้องกันมะเร็งระยะแพร่กระจายและมะเร็งระยะสุดท้าย
วิธีการที่ดีที่สุดสำหรับการป้องกันมะเร็งระยะแพร่กระจายและมะเร็งระยะลุกลาม คือการตรวจพบมะเร็งตั้งแต่ระยะเริ่มแรกและให้การรักษาอย่างทันท่วงทีก่อนที่จะมีการแพร่กระจายของโรค ดังนั้น การตรวจคัดกรองสำหรับโรคมะเร็งจึงเป็นสิ่งจำเป็น เช่น การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งเต้านมด้วยการตรวจเอกซเรย์เต้านม การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูกด้วยการตรวจแปบเสมียร์ การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยการตรวจอุจจาระ และ/หรือการส่องกล้อง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม วีธีการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งบางชนิดนั้นยังมีขีดจำกัด ทำให้บางครั้งกว่าที่จะตรวจพบมะเร็งได้ก็พบว่ามีการแพร่กระจายไปแล้ว
"มะเร็งกำเริบ" คืออะไร
มะเร็งกำเริบ (Recurrent cancer) หมายถึง การกลับมาเป็นซ้ำของมะเร็งหลังจากรักษาจนมีการหายขาดของโรค (Remission) แล้ว โดยการกำเริบในบริเวณมะเร็งปฐมภูมิและบริเวณใกล้เคียง เรียกว่า การกำเริบเฉพาะที่ (Local recurrence) การกำเริบในต่อมน้ำเหลืองใกล้ๆ เรียกว่า การกำเริบในบริเวณข้างเคียง (Regional recurrence) ส่วนการกำเริบในอวัยวะอื่นๆในร่างกาย เรียกว่า การกำเริบแบบมีการแพร่กระจาย (Metastatic recurrence) ซึ่งการรักษามะเร็งกำเริบนี้ แม้ว่าสามารถทำได้ยากกว่าการรักษาครั้งแรก แต่ยังไม่จัดเป็นมะเร็งระยะลุกลามหากยังสามารถรักษาให้หายได้ ยกตัวอย่างเช่น มะเร็งขนาดเล็กที่ได้รับการรักษาโดยการผ่าตัด ต่อมามีการกำเริบเกิดขึ้นที่ตำแหน่งเดิม อาจสามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการผ่าตัดเป็นบริเวณกว้างเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ในกรณีที่มีการกำเริบแบบมีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น (Metastatic recurrence) แล้ว มักจัดว่าเป็นมะเร็งระยะลุกลาม
การรักษามะเร็งระยะลุกลาม
ในการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะลุกลามนั้น แม้ว่าจะไม่มีวิธีทำให้หายขาดจากโรคได้ แต่การรักษาเป็นสิ่งที่จำเป็นยิ่ง ทั้งนี้เพื่อบรรเทาอาการเช็บป่วยอันเนื่องมาจากตัวโรค และเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย รวมทั้งยังช่วยยืดชีวิตของผู้ป่วยด้วย โดยผู้ป่วยและญาติสามารถมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเลือกวิธีการรักษาได้ตามความต้องการของตนเอง เพื่อที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้อย่างมีความสุข ผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะลุกลามบางราย เมื่อทราบว่าตนเองมีความหวังเพียงน้อยนิดที่จะหายจากโรค เทียบกับความทรมานจากการรักษาแล้ว ก็เลือกที่จะไม่เข้ารับการรักษา แต่ในบางรายก็ต้องการการรักษาอย่างเต็มที่ จนในที่สุด เมื่อวาระสุดท้ายของชีวิตมาถึง ผู้ป่วยบางรายต้องการอยู่ที่บ้านกับครอบครัวแต่บางรายต้องการอยู่ที่โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล ซึ่งสิ่งเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ผู้ป่วยสามารถตัดสินใจเลือกเองได้ ตามความเหมาะสมและสถานการณ์ของตนเอง
ในการรักษาโรคมะเร็งระยะลุกลามนั้น มีหลากหลายแนวทาง หลากหลายวิธีการ โดยพิจารณาจากก้อนมะเร็งปฐมภูมิและการแพร่กระจายของโรคเป็นหลัก ในที่นี้ขอกล่าวถึงแต่ละวิธีโดยสังเขปดังนี้
1. การผ่าตัด เป็นการรักษาหลักสำหรับโรคมะเร็ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการควบคุมโรคเฉพาะที่และเพื่อการหายขาดจากโรค แต่ในบางกรณีที่ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่มาก ไม่สามารถผ่าตัดออกได้หมด ก็จำเป็นต้องใช้วิธีการรักษาอื่นร่วมด้วย เช่น การให้ยาเคมีบำบัดและการฉายแสง อย่างไรก็ดี ในการเลือกวิธีการรักษาด้วยการผ่าตัดนั้น จะพิจารณาสภาวะของผู้ป่วยเป็นสำคัญ หากผู้ป่วยแข็งแรงดี การผ่าตัดน่าจะมีประโยชน์ แต่หากผู้ป่วยอยู่ในสภาพนอนติดเตียง ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้อยู่แล้ว การผ่าตัดน่าจะไม่เหมาะสม และยังเป็นการเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการรักษาด้วย
สำหรับโรคมะเร็งระยะลุกลามนั้น การผ่าตัดจะพิจารณาใช้เพื่อวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
เพื่อบรรเทาอาการและเพิ่มคุณภาพชีวิต รวมทั้งอาจช่วยยืดอายุของผู้ป่วยได้ด้วย เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็งลำไส้มีภาวะลำไส้อุดตันและอาการปวดเนื่องจากก้อนมะเร็ง การผ่าตัดเปิดถุงหน้าท้องในส่วนที่เหนือต่อบริเวณที่อุดตัน เพื่อระบายอุจจาระออก จะช่วยบรรเทาอาการดังกล่าวได้ หรือในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถรับประทานอาหารได้ การผ่าตัดใส่ท่อสายยางอาหารในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กจะเป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วย
เพื่อหยุดเลือด ในกรณีที่มีเลือดออกจากทางเดินอาหาร ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการส่องกล้องเพื่อหาจุดเลือดออกและให้การรักษาโดยการจี้จุดที่มีเลือดออก หรือหากไม่พบจุดเลือดออกที่ชัดเจนก็อาจทำการผ่าตัดเข้าไปเย็บเส้นเลือดหรือผ่าตัดเอาส่วนที่สงสัยว่ามีเลือดออกออกไป
เพื่อบรรเทาอาการปวด โดยเฉพาะกรณีที่มีการกดทับเส้นประสาท โดยอาจผ่าตัดเพื่อตัดเส้นประสาทนั้นหรือผ่าตัดเพื่อเอาก้อนมะเร็งออกก็ได้
เพื่อป้องกันภาวะกระดูกหัก เช่นในกรณีที่กระดูกดูอ่อนแอ อาจทำผ่าตัดเพื่อใส่โลหะเข้าไปดามไว้เพื่อป้องกันการหักโดยเฉพาะกระดูกบริเวณต้นขา หรือในกรณีที่มีการหักของกระดูกเกิดขึ้นแล้ว การผ่าตัดจะช่วยบรรเทาอาการปวดและทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้งานได้เร็วขึ้นด้วย
2. การฉายแสง โดยใช้รังสีเอ็กซ์พลังงานสูงเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง ในมะเร็งที่มีการลุกลามไม่มาก การฉายแสงอาจทำให้หายขาดจากโรคได้ สำหรับโรคมะเร็งระยะลุกลามนั้น เป้าหมายส่วนใหญ่จะเป็นการรักษาแบบประคับประคองเพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวดมากกว่า โดยฉายแสงเพื่อลดขนาดของก้อนมะเร็งลง วิธีการฉายแสงมี 2 วิธีหลักได้แก่
2.1 การฉายแสงระยะไกล (External beam radiation) วิธีการฉายจะคล้ายกับการถ่ายภาพเอกซเรย์ธรรมดา คือผู้ป่วยอยู่ห่างจากเครื่องฉายรังสีซึ่งจะยิงลำรังสีไปยังก้อนมะเร็งโดยตรง โดยจะทำการฉายวันละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 5 วันต่อสัปดาห์ รวมระยะเวลา 6-7 สัปดาห์ หรือในบางกรณีอาจฉายรังสีในปริมาณสูงเพียงแค่ 1-2 วันเพื่อควบคุมอาการก็ได้ ผลข้างเคียงจากการฉายรังสีที่พบบ่อยได้แก่ อาการอ่อนเพลีย และผิวหนังแดงไหม้ในบริเวณที่ฉายรังสีปัญหาที่พบบ่อยในการฉายรังสีบริเวณศีรษะและลำคอ ได้แก่ปากแห้ง เจ็บปากและคอ กลืนลำบาก ไม่รู้รสชาติอาหาร เนื่องจากต่อมน้ำลายถูกทำลายไป นอกจากนี้การฉายรังสีบริเวณช่องท้องอาจทำให้มีอาการคลื่นไส้อาเจียน และท้องเสียจาก การทำลายเซลล์ในเยื่อบุทางเดินอาหาร การฉายรังสีบริเวณทรวงอกอาจทำให้เกิดแผลเป็นในปอดได้ ทำให้มีอาการหายใจลำบาก และการฉายรังสีบริเวณสมองอาจทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับความคิด และความจำได้เป็นเวลานานหลายเดือนหรือหลายปี
2.2 การฉายแสงระยะใกล้ (Brachytherapy) เป็นการใส่แร่เข้าไปในบริเวณที่เป็นก้อนมะเร็ง หรือบริเวณใกล้เคียงเพื่อเพิ่มปริมาณรังสีที่ไปยังก้อนมะเร็งโดยตรง ในขณะเดียวกันก็ช่วยลดปริมาณรังสีที่ไปยังเนื้อเยื่อปกติด้วย
ในทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ได้มีการนำสารเภสัชรังสีมาใช้ในการรักษาโรคมะเร็งด้วย เช่น Strontium-89และ samarium-153 โดยฉีดเข้าเส้นเลือดให้สารกระจายไปทั่วร่างกายไปยังบริเวณที่มีเซลล์มะเร็งอยู่ เพื่อปล่อยรังสีฆ่าเซลล์มะเร็ง นิยมใช้ในกรณีที่มีการแพร่กระจายของมะเร็งมายังกระดูกหลายๆ แห่ง ซึ่งการรักษาด้วยการฉายแสงระยะไกล นั้นอาจทำได้ไม่ครอบคลุม และการฉายในบริเวณที่กว้างอาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนมากขึ้นอย่างไรก็ดี ในบางครั้งอาจจำเป็นต้องใช้หลายวิธีร่วมกัน เพื่อให้การรักษาเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
3. การรักษาโดยการใช้ยา (Drug therapy)
3.1 ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) อาจให้โดยการฉีด หรือการรับประทานก็ได้ โดยเมื่อยาถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดแล้วก็จะสามารถไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายได้จึงเหมาะกับโรคมะเร็งที่มีการแพร่กระจายไปทั่วร่างกายแล้ว นอกจากนี้ยังสามารถบรรเทาอาการอันเกิดจากตัวโรคได้โดยทำให้ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กลง และอาจช่วยยืดอายุของผู้ป่วยได้ สำหรับผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการให้ยาเคมีบำบัด มีดังนี้
คลื่นไส้ อาเจียน
เบื่ออาหาร
ผมร่วง (เมื่อหยุดการรักษา สามารถกลับมาเป็นปกติได้)
เจ็บปาก
เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดการติดเชื้อ
เลือดออกง่าย
อ่อนเพลีย
อ่อนแรง
ซึ่งอาการต่างๆ เหล่านี้ สามารถป้องกันและรักษาได้ด้วยยา โดยในการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดนั้นควรประเมินผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นว่าคุ้มค่ากับผลการรักษาที่ได้รับด้วยหรือไม่
3.2 ฮอร์โมน (Hormonal therapy) โดยใช้ยาที่ออกฤทธิ์หยุดยั้งการทำงานของฮอร์โมนหรือลดการสร้างฮอร์โมน เช่น ในโรคมะเร็งเต้านม การใช้ยา Tamoxifen เพื่อยับยั้งผลของ Estrogen จะทำให้เซลล์หยุดการเจริญเติบโตทำให้ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กลง หรือในโรคมะเร็งต่อมลูกหมากนั้นก็มีการใช้ฮอร์โมนเพศชาย Testosterone เพื่อหยุดการเจริญของเซลล์มะเร็ง ผลข้างเคียงของยาแต่ละตัวจะแตกต่างกันออกไป โดยส่วนใหญ่จะทำให้มีอาการร้อนวูบวาบ เกิดลิ่มเลือดได้ง่าย และลดความต้องการทางเพศลง
3.3 Bisphosphonates เช่น Pamidronate (ชื่อการค้า Aredia), Zolendronic acid (ชื่อการค้า Zometa) ใช้เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้แก่กระดูก เช่นในกรณีที่มีการแพร่กระจายของมะเร็งมายังกระดูกหรือในโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิด Multiple myeloma จะลดอาการปวดและลดการทำลายเนื้อกระดูกลง ซึ่งจะเหมาะกับลักษณะการแพร่กระจายชนิดที่ทำให้กระดูกบางลงมากกว่าชนิดที่ทำให้มีการสร้างกระดูกเพิ่มขึ้น สำหรับผลข้างเคียงของยาในกลุ่มนี้คือ การทำลายกระดูกที่บริเวณเหงือกและฟัน ทำให้มีอาการเจ็บปวดมาก
3.4 Targeted Therapy จัดเป็นการรักษาวิธีใหม่ โดยใช้ยาหรือสารที่มีความจำเพาะเจาะจงกับเซลล์มะเร็งเท่านั้น เพื่อลดผลที่จะเกิดกับเซลล์ปกติ ซึ่งการใช้ Targeted therapy นี้ จะไม่มีผลข้างเคียงของไขกระดูกหรือเซลล์เม็ดเลือดดังเช่นในการใช้ยาเคมีบำบัด แต่ก็มีผลข้างเคียงที่อาจเป็น อันตรายได้เช่นกัน เช่น Sunitinub (ชื่อการค้า Sutent) ใช้ในโรคมะเร็งไต เป็นต้น