มะเร็งต่อมลูกหมาก เรื่องที่ 1

มะเร็งต่อมลูกหมาก
ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด

สวัสดีครับ ผมชื่อ นายชาตรี แก้วปลั่ง ได้ไปพบคุณหมอ ชวลิต เลิศบุษยานุกูล ที่รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2559 เพื่อติดตามผลมะเร็งต่อมลูกหมากประจำปี ได้พบว่าทางโรงพยาบาลมีโครงการ “เรื่องเล่าจากผู้ป่วยสู้มะเร็ง” เพื่อเป็นกำลังใจให้แก่ผู้ป่วยท่านอื่นๆ ซึ่งผมยินดีครับ เพื่อเป็นกำลังใจแก่ผู้ป่วยท่านอื่นๆ ผมขอเรียนว่า ผมทราบว่าเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากเมื่อปี พศ.2549 หลังเกษียรอายุราชการ เริ่มจากผลของการตรวจเลือดในโครงการวัยทอง ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่ค่อยได้สนใจกับการตรวจเช็คร่างกาย เพราะเห็นว่าตัวเองก็แข็งแรงปกติ ผลเลือดแสดงค่า PSA ออกมามากกว่า 34 จากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการตรวจจนผลที่สุดคุณหมอสรุปว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ระยะที่ 3 แล้ว และเนื้อร้ายก็ลามออกมานอกต่อมลูกหมากมากเกินกว่าจะผ่าตัดได้แล้ว มันน่าตกใจมาก แต่หลังจากสงบสติอารมณ์ก็ทำใจ และก็ดีใจที่ตรวจเจอ เพราะถ้าไม่มาตรวจ ไม่เจอ และปล่อยนานไปกว่านี้ก็คงสุดจะเยียวยา (ท่าที่เป็นและทราบว่าเป็นก็ควรจะดีใจ เพราะจะได้เข้าสู่กระบวนการรักษา)

มะเร็งต่อมลูกหมาก เรื่องที่ 1

การเข้าสู่ขั้นตอนการรักษา ก็ถือว่าโชคดีที่ได้พบกับคุณหมอ ชวลิต เลิศบุษยานุกูล และทางรพ.จุฬาลงกรณ์ ที่มีอุปกรณ์ที่ทันสมัย เครื่องมือฉายรังสีแบบพิเศษที่ช่วยแก้ปัญหาการที่มาสามารถจะผ่าตัดต่อมลูกหมากได้ เพราะมันลามไปมาก ซึ่งในตอนนั้น รพ. ที่มีเครื่องมือแบบนี้มีไม่กี่แห่ง (ไม่เกิน 3 แห่ง) รพ.จุฬาลงกรณ์ เป็นแห่งหนึ่งที่มีเครื่องมือนี้ จากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการ ผลการรักษาและการติดตามผลถึงปัจจุบัน เข้าสู่ปีที่ 10 แล้ว และผลเลือดที่ตรวจทุกปีหลังการรักษา (ตั้งแต่ปี 2550 – 2559) แสดงค่า PSA ที่น่าพอใจมาก อยู่ที่ประมาณ 0.1, 0.2 ไม่เกิน 0.3 ซึ่งผมอยากจะเล่าสู่กันฟังถึงการปฏิบัติตัวของผมในระหว่างการรักษาดังนี้ครับ

ในช่วงการรักษา

-    ทำใจ จะทำอย่างไรได้ในเมื่อมันเป็นแล้ว และคิดว่าดีแล้วที่เจอ เจอแล้วมันมีโอกาสได้รักษา ใจจึงปกติ

-     คุณหมอ ชวลิต เลิศบุษยานุกูล บอกว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากมันช้า บางคนอาจเสียชีวิตเพราะโรคอื่นก่อน ก็เลยยิ่งสบายใจ

-    ช่วงการรักษาอาจจะลำบากหน่อยเพราะต้องไปๆมาๆ พบกับการรักษาและคุณหมอแทบทุกวัน เพราะการฉายรังสีก็เกือบ 40 ครั้ง ที่สำคัญคือปฏิบัติตัวตามตามที่คุณหมอแนะนำโดยเคร่งครัด

-    ช่วงการรักษา แน่นอนน้ำหนักตัวก็จะลดลงพอสมควร ประกอบกับตัวผมเองก็ช่วยเหลือตัวเองด้วยการพยายามลดอาหารมะเร็งลง เช่น อาหารประเภทเนื้อสัตว์ แต่ก็ชดเชยด้วยโปรตีนจากไข่ขาว ปลา อาหารปกติก็ทานผักต้มเป็นหลัก รับประทานกับข้าว รสชาติอาหารไม่ต้องสนใจ (เน้นรสจืด) ต้องฝืนรับประทานเพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายทรุดโทรมมาก ไม่ให้กระทบกับการฉายรังสีที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง

-    ไม่คิดมาก พยายามพักผ่อนนอนหลับให้สนิท

ทั้งหมดนี้ต้องอาศัยความอดทน เรื่องของโรค ร่างกาย อะไรก็เกิดขึ้นได้เสมอ ไม่มีโรคอะไรแย่กว่าอะไร โรคทุกโรคไม่ดีทั้งนั้น ร่างกายก็เช่นกัน มันเสื่อมลงทุกวัน ถึงปัจจุบันนี้ วิธีรักษา ยาที่ใช้ และเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆที่ใช้น่าจะดีกว่าเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ดังนั้นเพื่อเป็นกำลังใจให้ท่านผู้ป่วย และกำลังจะเข้าสู่กระบวนการรักษา ขณะนี้โปรดมั่นใจว่าโอกาสหายมีแน่นอน เพราะมีวิธีรักษา มียา และอุปกรณ์เครื่องมือ ที่ใช้ได้ผลมาแล้ว เราไม่ได้เป็นผู้ถูกทดลอง สบายใจได้เลยครับ

ในช่วงปัจจุบัน
ผมก็ใช้ชีวิตปกติ ระมัดระวังเรื่องอาหารการกินพอสมควร หาโอกาสออกกำลังกายกลางแจ้ง หางานอดิเรกทำ (ดูแลสวน ตัดหญ้า ตัดต้นไม้ในบ้าน) เพื่อไม่ให้ว่าง แต่ไม่หักโหม หลีกเลี่ยงเรื่องเครียดๆทั้งหลาย พักผ่อนสม่ำเสมอ และแน่นอน พบหมอตามนัดครับ ปัจจุบันคุณหมอนัดติดตามปีละหน จนปีนี้ปีที่ 10 และตอนนี้ผมอายุ 72 ปีแล้วครับ

ขอให้โชคดีและหายขาดจากโรคทุกๆท่านครับ